“ถอดบทเรียนการต่อสู้กับโควิด-19”
ภารกิจที่ 3 อว. กองกำลังสร้างภูมิคุ้มกันโควิด
การสื่อสารในภาวะวิกฤติ คือ สิ่งสำคัญ
ภารกิจ อว. กองกำลังสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 หรือโครงการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนของมหาวิทยาลัยในสังกัดกระทรวง อว. กลายเป็นตัวอย่างสำคัญของ ‘การปรับตัว’ ขององค์กรที่ดูเหมือน ‘จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรง’ ให้มาทำหน้าที่รับมือกับวิกฤติโรคระบาดได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งการทำภารกิจนี้ได้ให้บทเรียนที่สามารถนำไปต่อยอดและปรับใช้กับวิกฤติการณ์อื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย
“ไม่ว่าจะทำโครงการอะไรย่อมต้องเจอกับปัญหาอยู่แล้ว ยิ่งเป็นการทำงานภายใต้ภาวะวิกฤติที่เร่งรีบก็อาจมีปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจสถานการณ์ซึ่งอาจกลายเป็นประเด็นให้มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา ดังนั้นหากเกิดสถานการณ์แบบนี้อีก สำคัญที่สุดคือ เราต้องเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าแต่ละฝ่ายมีหน้าที่อะไร รับผิดชอบอะไรบ้าง นี่เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์จากภารกิจครั้งนี้”
นี่เป็นความคิดเห็นของคุณวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่คอยทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานของโครงการศูนย์บริการวัคซีนในสังกัดกระทรวง อว. ตลอดช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งคุณวันนียังมองด้วยว่า หัวใจของการทำงานภายใต้สภาวะวิกฤติที่มีความกดดันและมีชีวิตของคนจำนวนมากเป็นเดิมพันคือ ‘การวางแผนและจัดการข้อมูล’ ที่รอบคอบรัดกุม
“เรายังได้เรียนรู้ในเรื่องของการประสานงานและการวางแผนที่ต้องทำทุกอย่างด้วยความรอบคอบและรัดกุม รวมถึงต้องเรียนรู้เรื่องการจัดการข้อมูล อย่างเรื่องการฉีดวัคซีน ที่เราจะเห็นตัวเลขในทุก ๆ วันว่า ศูนย์ฯ ไหนพร้อมที่สุด หรือฉีดได้มากที่สุด ก็ต้องบริหารจัดการวัคซีนไปลงที่ศูนย์นั้นให้ได้อย่างเพียงพอ นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของเวลาและโอกาส อย่างในวันหยุดที่จะมีคนเข้ามารับวัคซีนมากกว่าวันธรรมดา ตรงนี้ก็ต้องทำความเข้าใจและจัดสรรวัคซีนไม่ให้ขาดตกบกพร่อง”
“เรายังต้องคิดถึงใจเขาใจเรา ยกตัวอย่างช่วงที่ผ่านมา มีศูนย์ฯ ที่ต้องการวัคซีนแล้วมาใช้คำพูดที่รุนแรงกับเรา ซึ่งตรงนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า เขาเองก็อยากทำงาน อยากดูแลประชาชนในพื้นที่ของเขาให้ได้มากที่สุด ให้ดีที่สุดเหมือนกัน เราจึงต้องใจเย็น สร้างความเข้าใจ และตอบคำถามกลับไปด้วยความชัดเจน เพราะอย่างน้อย ๆ ก็จะช่วยลดความหงุดหงิดของเขาลงไปได้บ้าง ไม่มากก็น้อย”
“อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า การสื่อสารสำคัญที่สุด ถ้าเราสื่อสารออกไปชัดเจนแต่แรก สร้างความเข้าใจกับทุกฝ่ายโดยที่ไม่ต้องให้เขาตั้งคำถามกลับมา ยิ่งในภาวะวิกฤติด้วยแล้วจะยิ่งช่วยให้ทุกอย่างง่ายขึ้น ทำให้การบริหารสถานการณ์ง่ายขึ้นตามไปด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่วิกฤติครั้งนี้ เพราะเรื่องของการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพสามารถเอาไปปรับใช้ได้กับทุกวิกฤติ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นวิกฤติทางสาธารณสุขเท่านั้น วิกฤติทางเศรษฐกิจ หรือภัยพิบัติอื่น ๆ ถ้าสื่อสารออกไปชัดเจนแล้ว การบริหารสถานการณ์ก็จะง่ายขึ้นมาก”
“สิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างในภารกิจครั้งนี้คือ การทำงานแบบเครือข่ายและบูรณาการความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐหลาย ๆ หน่วยงาน ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของวัคซีนอย่างเดียว ทำให้ผมคิดว่า หลังจากนี้ การประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐจะทำได้ง่ายขึ้น ทันท่วงทีมากขึ้น และเป็นระบบมากกว่าที่ผ่านมา”
ผลพวงอีกอย่างหลังจากภารกิจครั้งนี้สำเร็จลุล่วงคือ ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจถึงบทบาทของกระทรวง อว. มากขึ้น แม้การบริการวัคซีนจะไม่ใช่หน้าที่หลักของ อว. แต่ก็ทำให้เห็นถึงศักยภาพในการบริหารจัดการของกระทรวง อว. ได้อย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันก็ยังได้แสดงให้เห็นว่า สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งมีอีกหนึ่งบทบาทสำคัญในการ ‘รับใช้สังคม’ นอกเหนือไปจากการให้ความรู้แก่นิสิตนักศึกษา
“กระทรวง อว. เป็นกระทรวงที่มีบุคลากรที่มีความพร้อมในเรื่องต่าง ๆ มากมาย นอกจากนี้ หน่วยงานในสังกัดก็ยังมีความพร้อมด้านสถานที่ที่จะช่วยรองรับสถานการณ์ หากเกิดวิกฤติในครั้งหน้า ยิ่งเมื่อดูจากการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมในสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ ยิ่งเห็นชัดว่า แม้ อว. จะเป็นกระทรวงน้องใหม่ แต่มีบทบาทต่อการช่วยเหลือสังคมได้อย่างมากเลยทีเดียว”
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.