“ภารกิจช่วยเหลือสังคมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”
แม้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะไม่มีคณะแพทยศาสตร์ แต่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา รั้วนนทรีแห่งนี้ก็ยังเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่ช่วยสังคมไทยฝ่าฟันความยากลำบากในช่วงเวลาวิกฤติ เพราะนอกจากจะเป็น 1 ใน 26 ศูนย์บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว ทางมหาวิทยาลัยยังมีการดำเนินงานในเรื่องอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือให้คนในพื้นที่ไม่ต้องต่อสู้กับปัญหาและผลกระทบจากโรคระบาดเพียงลำพังอีกด้วย
“ภารกิจของเรามีตั้งแต่การดูแลมหาวิทยาลัยด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือนิสิตให้ปลอดภัย นอกจากนี้เรายังช่วยเหลือประชาชนโดยรอบมหาวิทยาลัยทุกวิทยาเขต ต่อมาเราก็จัดสรรพื้นที่มหาวิทยาลัยตามวิทยาเขตต่าง ๆ เป็นสถานที่กักตัว เป็นโรงพยาบาลสนาม รวมถึงการนำอาหารที่เราผลิตได้ เช่น นมเกษตร โปรตีนเกษตรไปแจกจ่ายเพื่อลดภาระของพี่น้องประชาชน ต่อมาพอมีวัคซีน ถึงแม้เราจะไม่มีการเรียนการสอนด้านการแพทย์ แต่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ยังเป็น 1 ใน 26 มหาวิทยาลัยที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนให้บริการกับประชาชน”
“มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีพื้นที่ค่อนข้างกว้างขวางอยู่แล้ว เรามีกำลังคนร่วม 80,000 คน แล้วตอนนั้นบุคลากรของเราก็ Work from Home ทำให้เรามาคิดว่า ถ้าทำอะไรเพื่อสังคมหรือประเทศชาติได้ เราก็ควรมารวมกำลังกัน ผมเลยไปขอวัคซีนมาจากกระทรวง อว. เพื่อมาฉีดให้บุคลากรและประชาชนโดยรอบมหาวิทยาลัยทุกวิทยาเขต ในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้ เราเองก็ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ทั้งในฐานะของมหาวิทยาลัย หรือในฐานะของคนในสังคม”
.
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
—————————
“นวัตกรรมการฉีดวัคซีนแบบ One Stop Service”
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ถือเป็น 1 ใน 26 ศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) แต่สิ่งที่ทำให้ศูนย์ฉีดวัคซีนนี้แตกต่างจากศูนย์อื่น ๆ คือการจัดการฉีดวัคซีนแบบที่ผู้เข้ารับวัคซีนไม่ต้องลุกไปไหนจนจบกระบวนการ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมการฉีดวัคซีนแบบ One Stop Service ที่ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี
“ด้วยความที่พื้นที่ในมหาวิทยาลัยของเรามีจำกัด เราจึงลองนั่งออกแบบระบบกันใหม่ ซึ่งแทนที่จะให้ผู้เข้ารับวัคซีนเดินไปตามจุดต่าง ๆ ซึ่งใช้พื้นที่มาก เราเลยให้ผู้ที่มารับวัคซีนนั่งอยู่เพียงจุดเดียวแล้วให้คนของเราเข้าไปวัดความดัน ก่อนให้พยาบาลเป็นคนลงเข็มฉีดวัคซีน ฉีดเสร็จก็นั่งรอที่เดิมจนครบ 30 นาที ค่อยลุกออกไป หลังจากนั้นก็ให้คนมาทำความสะอาดที่นั่งเพื่อรอรับผู้ที่จะมาฉีดวัคซีนรายใหม่ ซึ่งก็ทำให้การฉีดวัคซีนของเรารวดเร็วกว่าที่อื่น ๆ”
“เราคิดระบบนี้ แบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าเราดูแลผู้ป่วย หมอ-พยาบาลต้องเดินไปตรวจคนไข้ที่ห้อง เราเองก็เป็นแพทย์ เราเลยลองใช้วิธีการนี้ดู ซึ่งกลายเป็นว่าระบบการฉีดวัคซีนที่เราคิดขึ้นมา มีความรวดเร็วกว่า มีประสิทธิภาพ และใช้คนน้อยกว่า ที่สำคัญคือ ใช้พื้นที่น้อย ซึ่งสามารถออกไปฉีดให้ผู้ต้องการวัคซีนที่ไหนก็ได้ เพราะไม่เปลืองพื้นที่”
ศ.คลินิก พญ.โฉมศรี โฆษิตชัยวัฒน์
อธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์
—————————
“ชาว มศว. รวมพลังต้านโควิด-19”
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด-19 ผ่านหลายช่องทาง ทั้งการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามและศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยมหาวิทยาลัยแห่งนี้ นับว่ามีองค์ประกอบครบถ้วน ทั้งในแง่ของสถานที่หรือบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคลากรทางด้านการแพทย์ เนื่องจากทางมหาวิทยาลัยมีคณะที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สุขภาพอยู่หลายคณะ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีบทบาทอย่างยิ่งในการต่อสู้กับวิกฤติโรคระบาดในช่วงเวลาที่ผ่านมา
“มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมีโรงพยาบาลในสังกัด 2 แห่งคือ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ จังหวัดนครนายก และศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน จังหวัดนนทบุรี โดยทั้งสองโรงพยาบาลเริ่มทำการดูแลผู้ป่วยและประชาชนตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด และหลังจากที่ อว. มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งโรงพยาบาลสนามและเป็นศูนย์บริการฉีดวัคซีน บุคลากรของมหาวิทยาลัยก็มีความพร้อมในการดำเนินการและสามารถจัดการระบบต่าง ๆ ได้ในทันที”
“ทีมบุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ทั้งคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ กายภาพบำบัด รวมทั้งจิตอาสาจากคณะอื่น ๆ ให้ความร่วมมือดีมาก ผู้บริหารระดับสูง ทั้งท่านอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี ลงพื้นที่กำกับดูแลศูนย์ฉีดวัคซีนด้วยตัวเอง แม้ว่างานฉีดวัคซีนจะเป็นอะไรที่เหนื่อยมาก เพราะด้วยสถานการณ์ตอนนั้นที่ทุกคนล้วนต้องการวัคซีน แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ทำให้ภาพที่ออกมา น่าประทับใจมาก เพราะนั่นคือภาพที่ทุกฝ่าย ทั้งบุคลากร จิตอาสา และประชาชน ต่างให้การช่วยเหลือกันอย่างถึงที่สุด”
รศ.ดร.ลัดดาวัลย์ ผิวทองงาม
รองอธิการบดี ฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคล
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
—————————
“มหาวิทยาลัยศรีปทุม กับความร่วมมือร่วมใจในภาวะวิกฤติ”
มหาวิทยาลัยศรีปทุมมีบทบาทอย่างมากกับการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติโควิด-19 โดยเริ่มตั้งแต่การตั้งโรงครัวเพื่อแจกจ่ายอาหารให้กับประชาชนที่ยากลำบากในช่วงการระบาดระลอกแรก ๆ ก่อนที่หลังจากนั้นจะมีบทบาทในการเป็นอาสาสมัครศูนย์ฉีดวัคซีนของกรุงเทพมหานคร รวมถึงการจัดทำถุงยังชีพและช่วยเหลือจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้กับบุคลากร นักศึกษา และบุคคลภายนอก
“มหาวิทยาลัยศรีปทุมเป็นทั้งอาสาสมัครศูนย์ฉีดวัคซีนของ กทม. (ไทยร่วมใจ) ที่รับหน้าที่บริการวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป โดยเราดำเนินการทุกวัน ไม่มีวันหยุด เป็นเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นยังได้จัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนศูนย์ที่ 2 หลังจากที่ อว. แจ้งให้ทราบว่าจะมีการมอบวัคซีนให้กับบุคลากรและนักศึกษา นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ เรายังได้จัดทำถุงยังชีพ ซึ่งส่วนหนึ่งได้ส่งไปให้กับทาง อว. เพื่อให้ทางกระทรวงนำไปกระจายส่งมอบให้กับผู้ติดเชื้อต่อไปด้วย”
“มีเรื่องที่น่าจดจำในช่วงโควิด-19 เยอะมาก เพราะมันทำให้เราได้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของบุคลากรในช่วงเวลาวิกฤติ ตั้งแต่เราเริ่มตั้งโรงครัว หรือแม้แต่ศูนย์ฉีดวัคซีน เราก็ได้บุคลากรของมหาวิทยาลัยที่เสียสละและอุทิศตนมาร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือประชาชน นอกจากนั้น เรายังได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของคนในประเทศ ทำให้ได้เห็นว่าคนไทยไม่ทิ้งกัน ทุกคนทำกันคนละไม้ละมือ ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นในวันนี้แล้วว่า ความร่วมมือทำให้เราก้าวข้ามผ่านวิกฤติกันมาได้จริง ๆ”
ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน
อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม
—————————
“ประสานสิบทิศเพื่อพิชิตโควิด-19”
เบื้องหลังความสำเร็จของหน่วยบริการวัคซีนต้านโควิด-19 ทั้ง 26 หน่วยที่ดำเนินการโดย 26 มหาวิทยาลัย คือ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (สป. อว.) ที่ต้องดำเนินการประสานงานและติดตามสถานการณ์ รวมไปถึงดูแลและจัดสรรวัคซีนไปยังทั้ง 26 มหาวิทยาลัยและช่วยให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง
“ตอนวัคซีนเริ่มเข้ามา เราก็มองเห็นว่า เรามีบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งเพราะเรามีบุคลากรทางการแพทย์และยังมีโรงเรียนแพทย์และพยาบาลอยู่ด้วย ดังนั้นจึงพร้อมที่จะช่วยเหลือสถานการณ์วิกฤติในประเทศ เราเลยทำข้อมูลเกี่ยวกับบุคลากรทั้งหมดเพื่อไปขอรับการสนับสนุนวัคซีนจากรัฐบาล สุดท้ายจึงออกมาเป็นศูนย์ฉีดวัคซีน 11 แห่ง โดยศูนย์การศึกษาในสังกัดของเราอย่างที่เห็น”
“จุดสำคัญที่ทำให้โครงการทั้งหมดประสบความสำเร็จ คือเรื่องการสื่อสารและประสานงาน ตอนนั้นผมอาจจะนอนน้อยติดต่อกันหลายวัน แต่ก็มีความสุขที่ได้เห็นศูนย์ฉีดวัคซีนทุกแห่งของเรา ทำหน้าที่ได้อย่างประสบความสำเร็จ ผู้บริหารของศูนย์ฉีดวัคซีนทุกศูนย์ทำงานกันได้อย่างสุดยอดจริง ๆ ท่านให้ความร่วมมือในทุกเรื่องและทุ่มเทกันอย่างมาก สุดท้ายแล้วทุกอย่างจึงลุล่วงได้อย่างที่เราคาดหวังไว้”
คุณวันนี นนท์ศิริ
ผู้ช่วยปลัดกระทรวง
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.