“อว. ทำอะไรเพื่อคนไทยบ้าง?”
ภารกิจที่ 3 อว. กองกำลังสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19
หลังจากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศรายแรกในช่วงต้นปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยก็ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้หลายหน่วยงานต้องออกมาร่วมมือกันเพื่อหาทางรับมือกับความรุนแรงของการระบาดที่เพิ่มขึ้นจนหลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า “ลำพังเพียงบุคลากรทางการแพทย์อาจไม่เพียงพอต่อการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว” ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันหาทางออกเพื่อช่วยเหลือ ‘นักรบชุดขาว’ ในการผ่อนสถานการณ์จากหนักเป็นเบาให้ได้มากที่สุด
‘การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19’ ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่านอกจากจะช่วยชะลอการระบาดของโรคโควิด-19 แล้วยังจะสามารถบรรเทาความเหนื่อยล้าจากการทำงานหนักและอุทิศตนเพื่อผู้ป่วยของบุคลากรทางการแพทย์ได้ด้วย แม้การฉีดวัคซีนจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่สามารถป้องกันอาการป่วยหนักและช่วยให้สถานการณ์โดยรวมดีขึ้นได้จากการมี ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ ดังนั้นเพื่อเป็นการบรรเทาสถานการณ์ การฉีดวัคซีนจึงกลายเป็น ‘วาระเร่งด่วนแห่งชาติ’ ซึ่งทำให้หลายองค์กรเริ่มขยับตัวและเดินหน้าทำภารกิจเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนทันที
กระทรวง อว. เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เดินหน้าช่วยชาติในเรื่องนี้เช่นกัน โดยได้เปิดบริการศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ภายในสถาบันอุดมศึกษารวม 14 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้บริการฉีดวัคซีนแก่บุคลากรมหาวิทยาลัย คณาจารย์ นิสิตนักศึกษา ผู้รับบริการประเภทกลุ่ม ตลอดจนประชาชนทั่วไป โดยบูรณาการและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะขยายแนวร่วมไปยังสถาบันอุดมศึกษาในส่วนภูมิภาคอีก 12 แห่ง ในความร่วมมือของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องระหว่างเดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2564
ภารกิจ อว. กองกำลังสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม หลังจากที่มีประชาชนสนใจเข้ารับบริการวัคซีนตามศูนย์ฉีดวัคซีนของแต่ละมหาวิทยาลัยกันเป็นจำนวนมากอันสามารถช่วยบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดให้เบาบางลงไปได้ตามวัตถุประสงค์ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดขึ้นจากความพยายามและความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดของมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่รับหน้าที่เป็นศูนย์ฉีดวัคซีน เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือ การให้ทุกคนในประเทศปลอดภัยจากโรคระบาดโควิด-19
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.