“ถอดบทเรียนการต่อสู้กับโควิด-19”
ภารกิจที่ 2 โรงพยาบาลสนาม อว. กองหนุนขนาดยักษ์
พัฒนาข้อมูล กำลังคน พื้นที่ และนวัตกรรมให้พร้อมอยู่เสมอ
การรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดและมีการเปลี่ยนแปลงรายวัน จำเป็นต้องมีการเตรียมแผนรับมือเพื่อวาง ‘ระบบการทำงาน’ โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจพร้อมการติดตามผลอย่างใกล้ชิด
คุณสุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ยกตัวอย่างการดูแลโรงพยาบาลสนามและศูนย์แยกกักชุมชนในสังกัดกระทรวง อว. ว่า มีระบบที่คอยรายงานและติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงานให้ราบรื่น รวมถึงการบันทึกปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อเรียนรู้และหาทางแก้ไขที่เหมาะสมในแต่ละวัน ไม่สะสมปัญหาจนหาทางออกไม่ได้ ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งยังสามารถนำระบบนี้ไปต่อยอดเพื่อรับมือกับวิกฤติในอนาคตได้ด้วย
“ถ้ามีระบบการทำงานที่ดี ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็พร้อมรับมือกับทุกอย่าง โดยอีกสิ่งสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ภารกิจนี้สำเร็จคือ การพัฒนาข้อมูล กำลังคน นวัตกรรม และเครื่องมือให้พร้อมอยู่เสมอ อาทิ เครื่องช่วยหายใจ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่วิกฤติครั้งนี้ทำให้เราเห็นว่า ประเทศไทยพึ่งพิงเครื่องมือทางการแพทย์จากต่างประเทศมากเกินไป วิกฤติโควิด-19 จึงเหมือนเป็นการจุดชนวนโอกาสใหม่ ที่ประเทศไทยจะผลิตนวัตกรรมต่าง ๆ ใช้เอง และอาจสามารถเติบโตในตลาดกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และลาว) ได้ด้วย”
สำหรับการเตรียมการหรือพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ต่าง ๆ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น มองว่า อาจเริ่มต้นจากการตรวจสอบและพัฒนาห้องปฏิบัติการ ระบบเทคโนโลยี ไอทีและเอไอต่าง ๆ รวมถึง ‘เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์’ ที่นำมาใช้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นห้องความดันลบ หรือระบบ Home Isolation และ Telehealth สำหรับการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงผ่านทางไกล เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงและมีความพร้อมต่อการรับมือวิกฤติโรคระบาดมากยิ่งขึ้น
เช่นเดียวกับ ‘ระบบฐานข้อมูลของประชาชน’ ที่ควรเชื่อมโยงและเข้าถึงได้จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วย หรือแม้การทำงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ที่ควรจัดระเบียบและรวบรวม Big Data ของทุกหน่วยงานไว้ด้วยกัน ให้เป็นคลังข้อมูลและองค์ความรู้ที่เป็นระบบ เพื่อให้การทำงานของเจ้าหน้าที่หรือประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและไม่ต้องทำการค้นคว้าจากหลายแหล่ง
ส่วนการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน รศ.ดร. วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้ความคิดเห็นไว้ว่า “โควิด-19 ทำให้เห็นว่า เรามีจำนวนพยาบาลไม่เพียงพอ ขณะที่สมุนไพรไทยหลายชนิดมีส่วนช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น หลายมหาวิทยาลัยจึงเกิดแนวคิดเปิดหลักสูตรพยาบาลหรือแพทย์แผนทางเลือก เพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤติในอนาคต”
ด้าน ผศ.ดร.ยุวลักษณ์ เวชวิทยาขลัง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กล่าวถึงการให้ความสำคัญของการเตรียมความพร้อมด้านพื้นที่ว่า “เราจะรอให้เกิดปัญหาก่อนแล้วค่อยคิดหาทางแก้ไขไม่ได้อีกต่อไป แต่เราต้องเตรียมสถานที่ให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันอยู่เสมอ”
ขณะที่ความร่วมมือของกองหนุนที่ ‘ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย’ เป็นอีกกุญแจสำคัญที่ทำให้ทุกคนผ่านวิกฤติโควิด-19 มาได้ แม้บางมหาวิทยาลัยจะไม่ได้มีคณะแพทยศาสตร์หรือพยาบาลศาสตร์ แต่ด้วยเครือข่ายที่ดีกลับทำให้การทำงานของโรงพยาบาลสนามสำเร็จลุล่วง โดยหลายมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดจะมีการประชุมและทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานในจังหวัดอยู่แล้ว ทำให้เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น จึงสามารถตั้งรับได้เป็นอย่างดี
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.