เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมการประชุมเรื่อง “เกณฑ์ประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งตามมาตรฐาน 2567” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำเกณฑ์การประเมินคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏให้เป็นไปตามมาตรฐานที่สากลยอมรับ พร้อมบรรยายในหัวข้อ “แนวโน้มการพัฒนาคุณภาพการประกันคุณภาพการศึกษาภายในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ” โดยมีพลเอก ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ให้เกียรติเข้าร่วม และ รศ.มาลิณี จุโฑปะมา ประธานทปอ.มรภ. รศ.ดร.วิทยา เมฆขำ คณะอนุกรรมการด้านการประกันและยกระดับคุณภาพอุดมศึกษา อว. และประธานหน่วยบริหารจัดการ กำกับ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Sand box) อว. อธิการบดี รองอธิการบดี และเจ้าหน้าที่ ร่วมรับฟัง ณ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า กระทรวง อว. แบ่งการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1 พัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก กลุ่ม 2 พัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม กลุ่ม 3 พัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น กลุ่ม 4 การพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักทางศาสนา และกลุ่ม 5 การผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาเฉพาะ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏส่วนใหญ่จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม 3 และมีบางส่วนที่อยู่ในกลุ่มที่ 2 และ 5 ซึ่งทั้งหมดนี้จะใช้เกณฑ์ประกันคุณภาพการศึกษาเดียวกัน ซึ่งประกอบไปด้วยร้อยละการได้งานทำในพื้นที่หรือภูมิภาคของบัณฑิต การพัฒนาเชิงพื้นที่ การมีส่วนร่วมของบุคคลหรือหน่วยงานในชุมชน พื้นที่หรือภูมิภาค ความยั่งยืนของสถาบันอุดมศึกษา ชุมชนและสังคม ความสอดคล้องของหลักสูตร การวิจัยและบริการวิชาการเพื่อการพัฒนาในพื้นที่ภูมิภาค การมีส่วนร่วมของสังคมและชุมชน รวมถึงการบูรณาการงบประมาณจากภาครัฐและเอกชนในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมในพื้นที่
ปลัดกระทรวง อว. กล่าวต่อว่า ทั้งหมดนี้คือมาตรฐานที่เราต้องมี ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า “มาตรฐานคืออะไร” ถ้าในทางธุรกิจมาตรฐานคือ ความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อคุณภาพในสินค้านั้น ๆ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการได้ ถึงแม้ว่าราคาจะแตกต่างกันก็เป็นไปตามฟังก์ชันที่ถูกกำหนดมา อยู่ที่ลูกค้าต้องการใช้ฟังก์ชันแบบใด เช่นเดียวกับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่จะต้องคำนึงถึงลูกค้าซึ่งก็คือ ชุมชน ท้องถิ่น และประเทศ ที่มีโจทย์หรือความต้องการบุคลากรที่จะมาพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ต้องผลิตนักศึกษาให้เป็นผลิตภัณฑ์ (Product) และบริการ (Service) ที่มีความสามารถในการตอบโจทย์นั้น เพราะฉะนั้นมาตรฐานที่มหาวิทยาลัยต้องคำนึงก็คือการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้านั่นเอง
“การประเมินสถาบันอุดมศึกษาในปัจจุบันของทุกกลุ่มมหาวิทยาลัย แบ่งเป็น 2 ภารกิจหลักคือ การผลิตกำลังคนทักษะสูงให้กับประเทศ ท้องถิ่น และชุมชน ส่วนภารกิจที่ 2 คือ การสร้างความเป็นเลิศ ฉะนั้นการประกันคุณภาพในระดับสถาบันก็ต้องครอบคลุมทั้งสองส่วนนี้ โดยมีแนวคิดที่ว่า “ทำอย่างไรถึงจะสร้างคนให้มีทักษะและความเป็นเลิศเพื่อตอบโจทย์พื้นที่” ซึ่งปัญหาใหญ่ของประเทศตอนนี้คือเราไม่สามารถผลิตคนที่มีทักษะสูงได้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้หรือผู้ประกอบการได้อย่างเพียงพอและมีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ จึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะที่สำคัญให้นักศึกษาทั้งทักษะด้าน General Skill และ Soft Skill และการเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับชุมชน สังคม และผู้ประกอบการ ขอให้การประกันคุณภาพทั้งระดับสถาบัน ระดับคณะ และระดับหลักสูตรออกมาในทิศทางนี้ด้วย“ ศ.ดร.ศุภชัย
ข่าว : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ
ถ่ายภาพ : นายธาตา กูลศรีโรจน์
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.