เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดโครงการเสริมสร้างความรู้ เรื่อง กรณีศึกษาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจัดร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กรณีศึกษาและโทษจากการทุจริต ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร และระบบประชุมทางไกลออนไลน์
ดร.จันทร์เพ็ญ กล่าวว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2567 สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้ดำเนินการจัดการเรื่องร้องเรียนทุจริตและประพฤติมิชอบของหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษา รวม 100 แห่ง แบ่งประเภทตามผู้ถูกร้อง ดังนี้ 1. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 70 เรื่อง แบ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษา 60 เรื่อง หน่วยงาน 10 เรื่อง 2. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 53 เรื่อง แบ่งเป็น สถาบันอุดมศึกษา 45 เรื่อง หน่วยงาน 8 เรื่อง หรือลดลง ร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับปี 2566 จึงถือเป็นความท้าทายของหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาในการลดข้อร้องเรียนทุจริตและประพฤติมิชอบ พัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด
“ขอขอบคุณ สอวช. ที่ได้ร่วมจัดโครงการกับสำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 เป็นต้นมา ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการบูรณาการทำงานร่วมกันของหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของแผนปฏิบัติการ ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ กระทรวง อว.” รองปลัด อว. กล่าว
สำหรับแผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ กระทรวง อว. ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 -2567) ได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนากระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียนทุจริตให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ กลยุทธ์ : พัฒนาองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมืออาชีพ สามารถให้คำปรึกษาและแนะนำข้อกฏหมาย ข้อพึงระวังที่จะไม่กระทำการทุจริตในหน้าที่ มีมาตรฐานและเท่าทันต่อพลวัตรของการทุจริต รวมทั้ง พัฒนาระบบการจัดการเรื่องร้องเรียนการทุจริตด้วยระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล โดยบูรณาการเชื่อมโยงกับระบบภายในของหน่วยงาน จึงถือเป็นความท้าทายของหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาในการลดข้อร้องเรียนทุจริตและประพฤติมิชอบ พัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องให้บรรลุเป้าหมายในภาพรวมดังกล่าวข้างต้น โดยมุ่งประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1. ด้านการป้องกันและเฝ้าระวัง : มุ่งเน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฏระเบียบและทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ การปลุกฝังจิตสำนึกแก่บุคลากร ให้ปฏิบัติหน้าที่และใช้ดุลยพินิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รวมถึง การพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวัง และตรวจสอบการทุจริตภายในองค์กร โดย กระทรวง อว. ได้พัฒนากลไกในการกล่อมเกลาทางสังคม เฝ้าระวัง และแจ้งเบาะแสการทุจริต สำคัญ คือ “เครือข่าย/องค์กรจิตพอเพียงต้านทุจริต หรือ STRONG MHESI” ตามแนวทาง STRONG Model ของ สำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษา ร่วมเป็นเครือข่าย/องค์กร STRONG และขับเคลื่อนกิจกรรม/โครงการ ร่วมกันให้มีผลเป็นรูปธรรม 2. ด้านการป้องปราม : ควรมุ่งเน้นการจัดทำมาตรการ ควบคุม กำกับ ติดตามการบริหารจัดการของหน่วยงาน และสถาบันอุดมศึกษาให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ตลอดจนให้ความร่วมมือแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ผู้รับบริการ หรือ ประชาชน สามารถเข้าถึงและตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ภายใต้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง 3. ด้านการบริหารจัดการ : มุ่งเน้นการการพัฒนาระบบการจัดการ เรื่องร้องเรียนทุจริตด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล โดยบูรณาการเชื่อมโยงกับระบบและฐานข้อมูลของหน่วยงานภายใน ในการรับและติดตาม เรื่องร้องเรียน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ร้องและผู้แจ้งเบาะแสในการติดตามและตรวจสอบความก้าวหน้าในการจัดการเรื่องร้องเรียนของหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.