เมื่อวันที่ 28 ส.ค. รองศาสตราจารย์ ดร. วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และประธานคณะกรรมการบริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ได้รับมอบหมายจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เป็นประธานการประชุมรับฟังความเห็น “การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากแผนที่นําทางการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศ” โดยจัดร่วมกับคณะวิจัย ผ่านเครือข่าย TIME Labs มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อชี้ทิศทางการไปต่อของ “เทคโนโลยีอวกาศไทย” กับเทคนิคด้านวิทยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ผ่านมุมมองจากนักวิชาการรัฐและเอกชน ที่จะร่วมขับเคลื่อนแผนวิจัยเศรษฐกิจอวกาศสู่การใช้งานจริง และสนับสนุนให้คนไทยเป็นเจ้าของเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ตอบโจทย์ความความมั่งคั่งของประเทศ โดยมี ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ รองผู้อํานวยการสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ ณ ห้องพญาไท ชั้น 6 โรงแรมอิสติน แกรนด์ พญาไท
รศ.ดร. วีระพงษ์ กล่าวว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาด้านอวกาศเป็นอย่างยิ่งในช่วงเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาดาวเทียมธีออส 2 และธีออส 2A ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) โครงการพัฒนาดาวเทียมวิจัย Thai Space Consortium ที่นำโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ตลอดจนโครงการวิจัยอวกาศอื่น ๆ ที่ประเทศไทยเข้าไปมีส่วนร่วม อาทิ โครงการศึกษาผลึกเหลวในอวกาศ โครงการความ ร่วมมือศึกษาวิจัยดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์บรรยากาศขั้วโลก โดยโครงการวิจัยและพัฒนาเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการก้าวเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้เล่นระดับโลกทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญทั้งด้าน วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ จากหลายแขนงมาบูรณาการทำงานร่วมกัน
รศ.ดร. วีระพงษ์ กล่าวต่อว่า การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศในประเทศไทย จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการนำประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ที่จะสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ในการก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีอวกาศนั้น ประเทศไทยควรต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกันกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นต้องประเมินตนเองก่อนว่า ณ ปัจจุบัน ขีดความสามารถของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ นั้น เราอยู่ตรงไหน เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการ พิจารณาว่า เราควรมุ่งเป้าไปในทิศทางใดที่จะทำให้เราถึงเส้นชัยได้ไวที่สุด และใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ด้าน ดร.ณิรวัฒน์ กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานกลางของประเทศ ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน จึงได้สนับสนุนโครงการการศึกษาออกแบบกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศ แก่ รศ.ดร.ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ เพื่อผลักดันการวิจัยขั้นแนวหน้าบนฐานของเทคโนโลยีอวกาศ โดยบูรณาการงานวิจัยข้ามสาขาในการสร้างและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งมีเป้าหมายสร้างความเป็นเลิศด้านความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลก ผลกระทบจากอวกาศที่มีต่อโลก ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ในอวกาศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศที่จะนำไปสู่การเป็นเจ้าของ และผู้ส่งออกเทคโนโลยีที่สามารถพึ่งตัวเองได้ ตามยุทธศาสตร์ที่ 3 แผนงานที่ 19 (P19) ที่ระบุถึงความจำเป็นของประเทศต่อการพัฒนาและสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่รวมถึงอุตสาหกรรมอวกาศ และแผนงานสำคัญ F11 ที่เน้นการประยุกต์ใช้และต่อยอดด้านเทคโนโลยีภูมิสนเทศระบบโลกและอวกาศ (Earth Space Technology)
ดร.ณิรวัฒน์ กล่าวต่อว่า เพื่อพัฒนากรอบแนวคิดในการจัดทำแผนที่นำทางฯ (Conceptual Design) และเป้าหมายการพัฒนาที่เหมาะสมของประเทศ สู่การใช้ประโยชน์ระหว่างทางในการมุ่งสู่เป้าหมายในอนาคต (Pathway benefits) ผ่านการผสมผสานเชื่อมต่อระดับขีดความสามารถที่มีอยู่ในแต่ละ Competency domain สกสว. จึงร่วมกับ TIME Labs มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมรับฟังความเห็นในวันนี้ เพื่อสื่อสารและขยายผลการจัดทำแผนที่นำทางฯการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศสู่กลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง ซึ่งขณะนี้คณะนักวิจัยได้ดำเนินการ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพการพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศ ในระดับนานาชาติและของประเทศไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลจากการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อการใช้ประโยชน์ ร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านระบบโลกและอวกาศทั้ง ภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอวกาศ รวมถึงรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศในอนาคตได้ต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.