“ถอดบทเรียนการต่อสู้กับโควิด-19”
ภารกิจที่ 1 โรงพยาบาลหลัก อว. ความหวังของผู้ป่วย
ปรับวิธีการบริหาร เสริมงานวิจัยให้ไวต่อสถานการณ์ แก้กฎระเบียบให้เอื้อต่อภาวะวิกฤติ
โควิด-19 เป็นทั้งโรคอุบัติใหม่ที่มาพร้อมทิศทางทางการแพทย์รูปแบบใหม่สำหรับเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤติโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยวิกฤติครั้งนี้ได้ทิ้งบทเรียนครั้งใหญ่และสอนให้รู้ว่า…
ในมุมมองของ นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า บทเรียนแรกคือ ‘การบริหารจัดการภาวะวิกฤติภายใต้สถานการณ์โรคระบาด’ ที่ในช่วงแรกของโควิด-19 พบว่า เรายังบริหารได้ไม่ค่อยดีนัก การทำงานไม่มีระบบ ขาดการสร้างความเข้าใจกับประชาชน แต่ด้วยต้นทุนทางระบบสาธารณสุขที่ดี ประกอบกับการเตรียมความพร้อมภายในองค์กรทำให้ภารกิจผ่านไปได้ จึงมองว่า ควรมีการ ‘ร่วมมือระหว่างสถาบัน’ เครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHostNet) กับสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และสมาคมเกี่ยวกับโรคเฉพาะทางอื่น ๆ มากขึ้น เพื่อให้เห็นทิศทางการทำงานร่วมกันที่ชัดเจน
“โควิด-19 ยังเป็นตัวเร่งให้นำเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่น่าจะได้ใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้ามาใช้เร็วขึ้น ทั้งเรื่องการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การจัดทำห้องความดันลบ หรือชุด PPE รวมถึงควรมีการประเมินการจัดทำแผนเผชิญเหตุวิกฤติสุขภาพขนาดใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อวางโครงสร้างการบริหารจัดการและประเมินหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบราชการ เพื่อความคล่องตัวของการทำงาน เพราะที่ผ่านมากฎระเบียบทำให้การทำงานบางอย่างล่าช้า”
ด้าน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า ในเชิงบริหารควรมี ‘ยุทธศาสตร์ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ’ โดยต้นน้ำคือ ผู้บริหารที่ดูแลนโยบายในภาพรวม กลางน้ำคือ องค์ความรู้หรืองานวิจัยต่าง ๆ และปลายน้ำคือ การกำหนดหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งหากทำได้ดีทั้ง 3 ขั้นตอนจะทำให้เราผ่านทุกวิกฤติไปได้และจะไม่เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องความสับสนของข้อมูลที่สร้างความตระหนกให้กับประชาชน เพราะไม่มีกลไกการสื่อสารที่ชัดเจน ทำให้ข้อมูลที่สื่อสารผ่านทางโซเชียลมีเดียหลายต่อหลายครั้ง เป็นเพียงความคิดเห็น แต่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงเชิงวิชาการ จนต้องสร้างความเชื่อมั่นครั้งใหญ่
“ส่วนบทเรียนอื่น ๆ ที่วิกฤติครั้งนี้สอนไว้คือ การศึกษาวิจัยที่ต้องไวต่อภาวะคุกคามของจุลชีพ รวมถึงการศึกษาไวรัสและอุบัติการณ์ของประเทศ เพื่อเอามากำหนดทิศทางสถานการณ์ อย่างโควิด-19 เราต้องรุกและตัดสินใจให้เร็ว จากนั้นต้องรีบสแกนว่าต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้างแล้วรีบจัดหา ถ้าไม่มีในประเทศไทยก็ควรเตรียมผลิตเพื่อใช้เองในประเทศ และวันหนึ่งอาจสร้างรายได้ได้ด้วย รวมถึงพัฒนาระบบการให้ทุนวิจัยในช่วงฉุกเฉินให้ง่ายและเอื้อต่อการทำงาน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมด เรากำลังถอดบทเรียน เพื่อเป็นแนวทางกลางของระบบสาธารณสุขในประเทศเพื่อเพิ่มมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต”
ขณะที่ข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อรับมือกับวิกฤติทางสาธารณสุขให้ดียิ่งขึ้น ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ควรปรับโครงสร้างพื้นฐานในกรุงเทพมหานคร ด้วยการ ‘เพิ่มระบบบริการปฐมภูมิ (Primary Care)’ หรือบริการสุขภาพด่านแรกที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ง่ายขึ้น ซึ่งทำได้ดีอยู่แล้วในต่างจังหวัด
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ‘ต้องเปลี่ยนบทบาทใหม่’ เพื่อความก้าวหน้าทางการแพทย์ในอนาคต ทั้งการจัดหาและขึ้นทะเบียนยา วัคซีน หรือเวชภัณฑ์ต่าง ๆ โดยไม่ต้องรอให้ใครหยิบยื่นให้ และท้ายที่สุดควรปรับระบบไอทีหรือการขึ้นทะเบียนต่าง ๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เข้าถึงและเชื่อมโยงกันได้โดยง่าย
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.