นางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนกระทรวง อว. พร้อมด้วย นางวัฒนาโสภี สุขสอาด ผู้อำนวยการโครงการสถาบันไทยโคเซ็น รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และแผนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ โครงการสถาบันไทยโคเซ็น ได้ร่วมหารือกับ Prof .Dr. TAKAMATSU Hiroshi อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยี Kumamoto KOSEN และได้พบปะพูดคุยกับนักเรียนทุนรัฐบาลไทย ณ Kumamoto KOSEN ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงบ่ายของวันที่ 17 เมษายน 2568 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการออกแบบหลักสูตรร่วมกับภาคอุตสาหกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์และสร้างความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรเซมิคอนดักเตอร์ให้กับสถาบันไทยโคเซ็น
Prof.Dr. Hiroshi Takamatsu ผู้อำนวยการ Kumamoto KOSEN ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ Compass 5.0 ว่า เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลญี่ปุ่นที่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับเทคโนโลยีแห่งอนาคตของประเทศ โดยเฉพาะในด้านเซมิคอนดักเตอร์ โดยมี Kumamoto KOSEN และ Sasebo KOSEN เป็นสถาบันต้นแบบในการจัดทำหลักสูตรภายใต้โครงการ Compass 5.0 for Semiconductor ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2022 โดยมีสถาบันโคเซ็น 25 แห่งทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ Kumamoto KOSEN และ Sasebo KOSEN ได้ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) และ Semiconductor and Digital Innovation Association (SIIQ) ในการร่วมออกแบบหลักสูตรที่ตรงต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม (Demand-Driven Curriculum) ที่ตอบโจทย์ภาคการผลิตอย่างแท้จริง เพื่อเร่งสร้างและพัฒนากำลังคนของประเทศญี่ปุ่นที่มีศักยภาพและความสามารถที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงและทิศทางของภาคอุตสาหกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ พร้อมยังส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์ทำวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาใช้ในการเป็นโจทย์วิจัยในการจัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียน ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากใช้เวลาในการศึกษาน้อยกว่าระดับปริญญาตรี โดยผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันโคเซ็น มีทักษะด้านการปฏิบัติงานและการทำวิจัยร่วมกับภาคอุตสาหกรรมได้ทันที ทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันโคเซ็นได้รับการจ้างงาน จากบริษัทชั้นนำจำนวนมาก ทั้งนี้ ภูมิภาคคิวชู ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นภูมิภาคที่มีการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมเป็นอันดับต้นของประเทศโดยมากกว่า 50% เป็นอุตสาหกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ทั้งของประเทศญี่ปุ่นและจากการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการก่อตั้งโรงงานของผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกอย่างเช่น Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) และบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ SUMCO,Kyocera, Sony Semiconductor และ Mitsubishi Electric เป็นต้น ซึ่งสถาบันโคเซ็นประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะ Kumamoto KOSEN และ Sasebo KOSEN ที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคคิวชูถือเป็นต้นแบบของสถาบันการศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลิตวิศวกรนักปฏิบัติให้กับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ได้รับการยอมรับและประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง โดยมีหลักฐานเชิงประจักษ์จากอัตราการจ้างงาน (Job offer) สูงถึง 1 ต่อ 40 (นักศึกษา 1 ราย มีข้อเสนอการจ้างงานจาก 40 บริษัท) สำหรับนักศึกษาสถาบันโคเซ็นที่สำเร็จการศึกษาในระดับ Regular course และเมื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี (Advanced course) แล้วจะมีอัตราการจ้างงานสูงถึง 1 ต่อ 90 เลยทีเดียว
ด้าน นางวัฒนาโสภี กล่าวว่า แนวทางการจัดการศึกษาด้านการสร้างความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship education) ของ Kumamoto KOSEN ภายใต้โครงการ First-Penguins Project ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการจัดตั้ง Co-working Space และ Fabrication Lab ภายในสถาบันโคเซ็นทั่วประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทาง Kumamoto KOSEN ได้ออกแบบหลักสูตรที่มีรายวิชา Entrepreneurial Mindset เพื่อสร้างทักษะความเป็นผู้ประกอบการ โดย Prof. Dr. Hiroshi Takamatsu ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการ First-Penguins Project เปิดโอกาสให้นักเรียนที่สนใจเข้าฝึกอบรมเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต โดยสถาบันได้จัดหาอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญการสอนทักษะที่จำเป็นในการสร้างผู้ประกอบการ ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร การพบปะผู้คน เป็นต้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านนวัตกรรมและทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักเรียน โดยนางวัฒนาโสภี ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันนักศึกษาสถาบันไทยโคเซ็นมีความสนใจในการประกอบอาชีพ Innovative Startup เช่นกัน และหวังว่าจะสามารถนำแนวคิดดังกล่าวไปพัฒนาหลักสูตรและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทย เพื่อเสริมสร้าง Entrepreneurial Mindset หรือทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษาของสถาบันไทยโคเซ็นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงพาณิชย์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต
.
.
ในช่วงท้ายของการเยือน Kumamoto KOSEN นางสาววราภรณ์ และคณะได้พบปะพูดคุยกับนักเรียนทุนภายใต้โครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น นักศึกษาทุนจากสถาบันโคเซ็นแห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) รวมทั้ง นักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ที่เดินทางมาทำวิจัยระยะสั้น ณ Kumamoto KOSEN ประเทศญี่ปุ่น เพื่อติดตามความเป็นอยู่รับฟังปัญหาและอุปสรรคระหว่างการศึกษาต่อ ณ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมกันนี้ผู้บริหารและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้คำแนะนำและแนวทางการให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านการเรียนและสุขภาพใจ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้นักเรียนทุนรัฐบาลให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคและสำเร็จการศึกษาอย่างราบรื่น พร้อมกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยต่อไป โดยนักเรียนทุนที่กำลังศึกษา ณ Kumamoto KOSEN มีความมุ่งมั่นและตั้งใจศึกษาเล่าเรียน โดยมีผลการเรียนดีมาก อีกทั้งมีความมุ่งหวังว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาจะกลับมาปฏิบัติงานในภาคอุตสาหกรรมไทย และรู้สึกภาคภูมิใจที่จะได้นำความรู้ที่ได้จากการศึกษากลับมาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาภาคงอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อไป
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3782
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.