เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ปอว.) พร้อมด้วย ดร.กิตติ์กวิน อรามรุญ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน และ ดร.ธีรพัทธ์ มานุวงศ์ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้ร่วมหารือกับ Dr. Elena Buglova, Director of the Division of Nuclear Security ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ณ อาคารพระจอมเกล้า สป.อว.
ทั้งนี้ Dr. Buglova เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมพิธีเปิดกิจกรรม International Nuclear Security Advisory Service (INSServ) Mission ในโอกาสที่ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนการประเมิน INSServ Mission หรือ The International Nuclear Security Advisory Service (INSServ) Mission จาก IAEA โดย INSServ Mission คือ กิจกรรมในภารกิจการให้คำแนะนำด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ในระดับนานาชาติที่ครอบคลุม 3 โมดูล คือ (1) พื้นฐานสำหรับระบบและมาตรการความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์สำหรับวัสดุกัมมันตรังสีนอกการกำกับดูแล (2) ระบบและมาตรการด้านการตรวจจับทางรังสี และ (3) ระบบและมาตรการด้านการตอบสนอง ทั้งนี้ นอกจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติแล้วยังมีหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องในการประเมินอีก ๒๐ หน่วยงาน เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย และศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นต้น
ในโอกาสนี้ นายเพิ่มสุข กล่าวว่า ขอขอบคุณ Dr. Buglova สำหรับการสนับสนุนที่ได้รับจาก IAEA ซึ่งช่วยเสริมสร้างสมรรถนะการดำเนินงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ให้กับประเทศไทย ทั้งในแง่ของการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ผ่านการฝึกอบรม และการสนับสนุนเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับตรวจจับหรือใช้ในการตอบสนองเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี หรือเหตุด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับการสนับสนุนการประเมิน INSServ Mission ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรและศักยภาพด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์ โดย ปลัด อว. ได้แสดงความสนใจในการขยายความร่วมมือกับ IAEA ด้านการจัดการ Disused Radioactive Sources (การจัดการกับวัสดุกัมมันตรังสีเมื่อเลิกใช้งาน) และการให้การสนับสนุนในภารกิจ IPPAS Mission ซึ่งจะเริ่มขึ้นในปี 2568 โดยได้เสนอให้ขยายความร่วมมือสู่มหาวิทยาลัย ในการให้สร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ ผ่านโปรแกรมการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบหลักสูตร การพัฒนาทักษะ และกาแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีจาก IAEA สู่มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังได้เสนอความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์จาก Small Modular Reactors (SMRs) Technology ซึ่งกำลังจะเป็นส่วนสำคัญต่อแผนการพัฒนาพลังงานของไทยในอนาคต โดย Dr. Buglova มีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับไทย และให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการเรียนรู้ และความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคณะทำงานของทั้งสองฝ่ายจะได้ทำงานร่วมกันในรายละเอียดต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.