เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ครั้งที่ 3/2566 โดยมี นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นางเพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เป็นเป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมทั้ง ผู้แทนกระทรวงต่าง ๆ อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และนิติศาสตร์ เพื่อร่วมพิจารณาร่างกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 ให้เกิดการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมเร่งผลักดันร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ ระยะที่ 2 (2566 – 2570) เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ผู้ปฏิบัติงาน และสิ่งแวดล้อม ณ ทำเนียบรัฐบาล
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในที่ประชุมว่า การประชุมคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งคณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะนโยบายและมาตรการต่อคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ รวมทั้ง การกำกับดูแลนิวเคลียร์และรังสี เพื่อความปลอดภัยและเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันให้เกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนเพี่อการพัฒนาประเทศ และเพื่อความปลอดภัยของประชาชน อีกทั้ง ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงวางระเบียบและควบคุมดำเนินกิจการให้เป็นไปตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในใบอนุญาตที่ออกตามกฎหมายนี้ รวมทั้งกำหนดแผนฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ซึ่งเป็นแผนสนับสนุนและอยู่ภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นต้น
นางเพ็ญนภา กัญชนะ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กรรมการและเลขานุการ พนส. เปิดเผยว่า พนส. มีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดวัสดุนิวเคลียร์ที่บุคคลธรรมดาขอรับใบอนุญาตได้ และร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ ระยะที่ 2 พ.ศ. 2566 – 2570 พร้อมผลักดันให้เกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนเพี่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
นางเพ็ญนภา กล่าวต่อไปว่า ในที่ประชุมฯ ได้รายงานการดำเนินงานเชิงรุกของประเทศไทยในการเฝ้าระวังความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี กรณีที่มีการระบายน้ำจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ-ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทร โดย ปส. มีความร่วมมือกับกรมประมง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในการตรวจวัดกัมมันตรังสีซีเซียม-134 และซีเซียม-137 (Cs-134, Cs-137) ในตัวอย่างอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี นอกจากนี้ ปส. มีการรับข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลระดับรังสีในสิ่งแวดล้อมของอาเซียน เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในกรณีเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีในอากาศและในทะเลอีกด้วย ดังนั้นจึงสามารถมั่นใจได้ว่าหากมีเหตุการณ์รั่วไหลที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ปส. จะสามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันการณ์และสามารถสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชนได้
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.