เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม นางสาวสุชาดา ซาง แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. ให้เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาวิชาการ เนื่องในวันมาตรวิทยาโลกและเฉลิมฉลอง 150 ปี ของสนธิสัญญาเมตริกและปีสากลแห่งควอนตัมระดับนานาชาติ และกระตุ้นการพัฒนานวัตกรรมและการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับ โดยมี ฯพณฯ นายม็อง-โกลด ปวงเบิฟ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย พลตำรวจโท พรชัย สุธีรคุณ ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ นายเทพภิญโญ โคตรนนท์ ผู้อำนวยการกองชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน และผู้แทนปลัดกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วม ณ โถงกิจกรรม ชั้น 1 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กรุงเทพฯ
นางสาวสุชาดา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ รมว.อว. ได้มีโอกาสรู้จักและทำความเข้าใจกับระบบมาตรวิทยามากยิ่งขึ้น และทำให้ตระหนักได้อย่างแท้จริงว่า ทำไมระบบที่แทบจะไม่เป็นที่รู้จักของคนภายนอกวงการ จึงต้องอยู่ภายใต้การกำกับโดยตรงของกระทรวง อว. เพราะระบบมาตรวิทยามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับโครงสร้างพื้นฐานอื่นอีกชั้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นระบบอุตสาหกรรม ระบบมาตรฐาน ระบบการค้า ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบดิจิทัล รวมทั้งสิ่งที่พวกเรารู้จักกันเป็นอย่างดีและใช้งานกันแทบทุกวันคือระบบการนำทาง ด้วยความสำคัญนี้ กฎหมายจึงได้กำหนดให้ รมว.อว. ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการมาตรวิทยาแห่งชาติ เพื่อให้การเสนอแผนและมาตรการในการพัฒนาระบบมาตรวิทยาต่อคณะรัฐมนตรีเกิดขึ้นใด้โดยสะดวกและรวดเร็ว
เลขานุการ รมว.อว. กล่าวต่อว่า นับเป็นเวลากว่าหนึ่งศตวรรษครึ่ง หรือตั้งแต่ต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งคือยุคที่สยามเร่งปฏิรูปประเทศเพื่อให้สามารถเจรจาทางการเมืองกับประเทศทางตะวันตกได้อย่างเท่าเทียม ทำให้เกิดการวางโครงสร้างพื้นฐานของสังคมสมัยใหม่ในแทบทุกด้าน เช่น ถนนและทางรถไฟ ระบบสื่อสารทางไกล ระบบการปกครอง ระบบการศึกษา รวมถึงระบบมาตราชั่งตวงวัดด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสมัยใหม่น่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ของการปฏิรูประบบมาตราชั่งตวงวัดของสยามให้สอดคล้องกับระบบของตะวันตกที่จะมีขึ้นต่อไปในภายภาคหน้า จึงได้มีการส่งทะนานหลวงซึ่งเป็นชื่อหน่วยในมาตราตวงตามประเพณีของไทยไปสอบเทียบที่ประเทศฝรั่งเศส
นางสาวสุชาดา กล่าวอีกว่า หากมองย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 19 สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นคือ การที่ไม่สามารถตกลงปริมาณที่จะซื้อขาย-แลกเปลี่ยนกันได้ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ทำให้การยืนยันการค้าจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ ในขณะเดียวกัน ผลการทดลองที่เกิดขึ้นจากต่างที่ ต่างเวลา ก็ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ ทำให้การยืนยันผลการทดลองและการค้นพบต่าง ๆ ล่าช้าไป ดังนั้น ระบบหน่วยวัดระหว่างประเทศที่เป็นผลลัพธ์ของสนธิสัญญาเมตริกจึงนับเป็นนวัตกรรมที่แก้ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ซื้อและผู้ขายสื่อสารและตกลงกันด้วยหน่วยวัดเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ใช้หน่วยเดียวกันในผลการทดลอง จึงเห็นว่าสนธิสัญญาเมตริกคือนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 19 และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการค้าพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจวบจนถึงศตวรรษที่ 20
“ความพยายามและความสำเร็จของการสร้างระบบการวัดและระบบหน่วยวัดระหว่างประเทศที่ทำให้เราสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ สินค้าและบริการได้อย่างไร้รอยต่อและไร้พรมแดนของประชาคมมาตรวิทยา ในโอกาสครบรอบ 150 ปีของสนธิสัญญาเมตริก ไม่ใช่แค่การย้อนรำลึกถึงอดีต แต่เป็นการมองไปข้างหน้า เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ว่า “การวัด” ไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวเลข แต่คือพื้นฐานของนวัตกรรม ความยั่งยืน และความร่วมมือระดับโลกในศตวรรษที่ 21 ด้วย รวมทั้ง ในปี 2568 นี้ องค์การ UNESCO ยังประกาศให้เป็น “ปีสากลแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควอนตัม” (International Year of Quantum Science and Technology) เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีของกลศาสตร์ควอนตัม ซึ่งเป็นวิทยาการที่พลิกโฉมความเข้าใจของมนุษย์ต่อธรรมชาติและเปิดทางสู่เทคโนโลยีล้ำยุค ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานการวัดให้สอดคล้องกับฟิสิกส์ควอนตัมและพร้อมรองรับเทคโนโลยีแห่งอนาคต“ นางสาวสุชาดา กล่าว
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นายฐิติพงศ์ แสงรักษ์
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.