เมื่อวันที่ 30 เม.ย. นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการแถลงข่าวความสำเร็จ DDC-Care เฝ้าระวังโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS CoV) ในผู้แสวงบุญที่เดินทางเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคและการดูแลสุขภาพของผู้เดินทางไปแสวงบุญและประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวง อว. โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมควบคุมโรค และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) โดยมี ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อํานวยการ สวทช. นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทยส์กุล อธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค สธ. เข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (โยธี)
นายศุภชัย กล่าวว่า แพลตฟอร์ม DDC-Care สำหรับเฝ้าระวังโรคติดต่อ ซึ่งเริ่มพัฒนาขึ้นมาสำหรับป้องกันการแพร่ ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ในช่วงปลายปี 2562 ต่อมาเมื่อสถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลายลง ทีมวิจัย และบุคลากรทางสาธารณสุขของเรา ก็สามารถนําแพลตฟอร์ม DDC-Care มาประยุกต์ใช้ ให้สามารถเฝ้าระวังโรค MERS CoV หรือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางสำหรับพี่น้องมุสลิมชาวไทยที่จะเดินทางไปแสวงบุญและประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นประจำทุกปี
ผู้ช่วย รมว.อว. กล่าวต่อว่า กระทรวง อว. มีนโยบายในมิติด้านการวิจัยและนวัตกรรมคือ “วิจัย นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” และตอบโจทย์อุตสาหกรรมตามเป้าหมายของรัฐบาล ผลงานแพลตฟอร์ม DDC-Care สำหรับเฝ้าระวังโรคติดต่อ MERS นี้ ก็นับได้ว่าเป็นผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของเจ้าหน้าที่และบุคลากรสาธารณสุขในการเฝ้าระวังโรค แม้ว่าโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง จะไม่ได้เป็นโรคที่มีการระบาดอย่างกว้างขวางในประเทศไทย แต่ก็ยังคงพบได้ใน กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อย่างเช่น ซาอุดิอาระเบีย ดังนั้น การเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเป็นประจำของเจ้าหน้าที่ก็จะช่วยระงับยับยั้งป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดในประเทศของเราได้ อันจะเป็นการส่งเสริมและสร้างความมั่นใจต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมหาศาล รวมทั้งเป็นการตอบสนองต่อนโยบาย Medical Hub ของประเทศไทยเป็นอย่างดี
“ขอย้ำว่าการแถลงข่าวในวันนี้ ไม่ได้ต้องการให้เกิดความกังวลในหมู่พี่น้องมุสลิมชาวไทยของเราว่า..การเดินทางไปแสวงบุญจะมีการแพร่ระบาดหรือติดเชื้อของโรคดังกล่าวในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เพียงแต่เป็นมาตรการป้องกันของรัฐบาลซึ่งเป็นการต่อยอดจากแนวคิด “Hajj 5G 5G๐od” ได้แก่ Good Price (ราคาดี มี คุณภาพ) Good Service (บริการดี), Good Care (เอาใจใส่ดี) Good Health (สุขภาพดี) และ Good Relations (ความสัมพันธ์ดีระหว่างประเทศ) ในข้อที่ 4 คือ Good Health หรือสุขภาพดี นอกจากทีมแพทย์ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงสาธารณสุขที่เราส่งไปดูแลสุขภาพผู้แสวงบุญ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบียแล้ว เรายังติดตามดูแลสุขภาพของท่านหลังจากเดินทางกลับมายังประเทศไทยอีกด้วย จึงขอให้ทุกท่านให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเราด้วย และสำหรับพี่น้องมุสลิมชาวไทยที่จะเดินทางไปแสวงบุญและประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ขอให้ทุกท่านเดินทางโดยสวัสดิภาพ” นายศุภชัย กล่าว
ศ.ดร.ชูกิจ กล่าวว่า ระบบ DDC-Care เป็นเทคโนโลยีที่เป็นระบบติดตามผู้มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการประเมินสถานการณ์ ติดตาม เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อเพื่อรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที จุดเด่นของแพลตฟอร์ม DDC-Care มีบทบาทสำคัญในระบบสาธารณสุข โดยสามารถประยุกต์ใช้ป้องกันและเฝ้าระวังโรคอุบัติช้ำหรือโรคติดต่ออันตราย ซึ่งกรมควบคุมโรคนำระบบ DDC-Care ไปใช้เฝ้าระวังความเสี่ยงโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางหรือโรคเมอร์สในกลุ่มพี่น้องคนไทยเชื้อสายมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีทางศาสนาในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบัน
นอกจาก DDC-Care แล้ว สวทช. ยังได้พัฒนาต่อยอดระบบวัคซีนพาสปอร์ต INTERVAC มาสู่ INTERVAC HAJJ สำหรับการออกใบรับรองการฉีดวัคซีนทั้งสิ้น 4 ชนิด ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรค COVID-19 โรคไข้กาฬหลังแอ่น โรคไข้หวัดใหญ่ และไข้เหลืองให้กับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ โดยเริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี 2565 โดยระบบ INTERVAC พัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำการบันทึกข้อมูลการฉีดวัคซีนและประชาชนที่เข้ารับบริการ ซึ่งเดิมการออกเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนจะจัดทำในรูปแบบ "สมุดเล่มเหลือง" ที่เขียนด้วยลายมือ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาการทำงานมากขึ้นและไม่สามารถรองรับปริมาณและความต้องการของประชาชนได้ เมื่อมีการนำระบบ INTERVAC มาใช้ หลังจากที่เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลแล้วจะสามารถพิมพ์สมุดเล่มเหลืองได้ทันที พร้อมทั้งใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ QR Code
"ความสำเร็จของแพลตฟอร์ม DDC-Care และ ระบบ INTERVAC จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในภาคการดูแลสุขภาพและสามารถนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสุขภาพในด้านอื่น ๆ ที่มีความสำคัญต่อการยกระดับการดูแลสุขภาพของคนไทยทุกคน" ศ.ดร.ชูกิจ กล่าว
ด้าน นายแพทย์ดิเรก กล่าวว่า การทำงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่เยี่ยมผู้ที่เดินทางกลับมาจากการประกอบพิธีฮัจญ์ และแนะนำให้ใช้แอปพลิเคชัน DDC-Care ในการรายงานสุขภาพอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 14 วัน เพื่อเป็นการเฝ้าระวังผู้ที่อาจจะเสี่ยงเป็นผู้ป่วยโรคเมอร์สภายหลังจากเดินทางกลับจากการประกอบพิธีทางศาสนาในตะวันออกกลาง และเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ลดการแพร่กระจายของโรคทั้งในครอบครัวและชุมชน ทั้งนี้ที่ผ่านมากรมควบคุมโรคได้นำระบบ DDC-Care มาใช้เฝ้าระวังความเสี่ยงโรคเมอร์สใน 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดตรัง สงขลา พัทลุง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพื่อบริการแก่กลุ่มผู้แสวงบุญที่เดินทางเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ ดังนั้นระบบ DDC-Care จึงถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเฝ้าระวังและรับมือกับสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ หรือโรคติดต่อร้ายแรง ซึ่งเป็นตัวช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดตามและควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.