เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล สป.อว. พร้อมด้วย นายจักรชัย บุญยะวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง บริษัท เมอร์เซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเปิดงานแถลงข่าวยกระดับทักษะแรงงานไทยเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต (Lift Skill Thai Labor Force) ณ ห้องประชุมจามจุรี เอ ชั้น m โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพมหานคร
นายวันนีฯ กล่าวว่า เนื่องจากในสถานการณ์ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงด้านสังคม เทคโนโลยี และเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจและสังคม มุ่งมั่นและผลักดันนโยบายเพื่อเป้าหมายการเป็นไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งอุปสรรคที่สำคัญคือการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะความสามารถที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน อันเกิดมาจากระบบการศึกษา การฝึกอบรมด้านเทคนิควิชาชีพ รวมถึงระบบการฝึกอบรม ที่ไม่ได้ถูกดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยโครงการดังกล่าวใช้ระยะเวลาการดำเนินการประมาณ 2 ปี แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1 การวิเคราะห์ความต้องการความสามารถของแรงงานในอนาคต (Demand Analysis)
- ระยะที่ 2 แผนงานการพัฒนาความสามารถหรือการพัฒนาหลักสูตร (Capability Development Program/Curriculum)
- ระยะที่ 3 การดำเนินการและการถอดบทเรียน (Execution and Lesson Learn)
ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินการมีการใช้ข้อมูลเชิงลึก รวมทั้งความเชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาของบริษัทเมอร์เซอร์ เพื่อพัฒนาแผนงานให้กับ อว. ร่วมกันส่งเสริมระบบการศึกษาขั้นสูงและการพัฒนาศักยภาพของแรงงานไทยในอนาคต
ทางด้าน นายจักรชัยฯ กล่าวว่า ระยะแรกของโครงการได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยบริษัทเมอร์เซอร์ ได้วิเคราะห์ความต้องการความสามารถของแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงและมีแนวโน้มการเติบโตในระยะ 5-10 ปีข้างหน้าตามนโยบายของรัฐบาล เช่น อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมชีวภาพและชีวเคมี อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต เป็นต้น ผ่านการเก็บข้อมูลของภาคอุตสาหกรรมโดยตรงจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารและตัวแทนบริษัท จำนวน 67 บริษัทจาก 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ระยะที่ 2 ของโครงการ อว. จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกที่ได้ในระยะแรก พัฒนาหลักสูตรสำหรับนักศึกษา เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถผลิตกำลังแรงงานให้ตรงตามความต้องการของบริษัทภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ และระยะสุดท้ายของโครงการ อว. จะติดตามการดำเนินการของโครงการเพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินการสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบการอุดมศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ สร้างอาชีพที่มั่นคงให้บัณฑิตใหม่ในระดับปริญญาตรีให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างแท้จริง
.
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดการเสวนาในหัวข้อ “การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมผ่านการยกระดับทักษะแรงงานไทย” โดยนอกจาก นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ และนายจักรชัยแล้ว การเสวนาในครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และ รศ.วิทวัส แจ้งเอี่ยม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.บูรพา มาแลกเปลี่ยนหาแนวทางในการพัฒนาทักษะบัณฑิตไทย เพื่อยกระดับและตอบโจทย์ทักษะแรงงานต่อภาคธุรกิจในอนาคต
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.