เมื่อวันที่ 18 เม.ย. นางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวง อว. เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนกระทรวง อว. เข้าหารือกับผู้บริหารของ Kyushu Semiconductor and Digital Innovation Association (SIIQ) และผู้แทนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Ministry of Economy Trade and Industry: METI) ที่ดูแลและรับผิดชอบด้าน Economic Policy ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาแนวทางการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ในการขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง พร้อมด้วยนางวัฒนาโสภี สุขสอาด ผู้อำนวยการโครงการสถาบันไทยโคเซ็น รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และแผนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ โครงการสถาบันไทยโคเซ็น
นางสาววราภรณ์ กล่าวว่า กระทรวง อว. ได้มีการจัดทำแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนด้าน Semiconductor และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงของประเทศด้วยเช่นกัน โดยมีแผนการจัดทำโปรแกรมผลิตและพัฒนาบุคลากรเฉพาะทางสมรรถนะสูงผ่านหลักสูตร Upskill/Reskill และหลักสูตร Sandbox ปริญญาตรี-ปริญญาโท รวมถึงการให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมให้กับอาจารย์ผู้สอน (Training for the trainer) และ Industrial Internship เพื่อเพิ่มเติมทักษะการทำงานจริงในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการที่ได้มาร่วมหารือ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในวันนี้ เป็นโอกาสที่ดีของกระทรวง อว. ที่จะได้เรียนรู้เพื่อนำปัจจัยแห่งความสำเร็จของ SIIQ มาพัฒนาเพื่อประยุกต์ใช้ในการดำเนินการด้านการพัฒนากำลังคนทักษะสูงของสถาบันไทยโคเซ็นให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป
Dr. Makoto Kanda ผู้บริหาร SIIQ และ Mr.Koyana Tuki ผู้แทนกระทรวง METI ได้แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของ SIIQ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลภายใต้กระทรวง METI ที่มีเครือข่ายความร่วมมือในรูปแบบ Consortiumเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Semiconductor ในภูมิภาคคิวชูของประเทศญี่ปุ่น โดย SIIQ ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2002 และได้มีการดำเนินงานภายใต้เครือข่ายอย่างเข้มแข็ง โดยในปี ค.ศ. 2020 กระทรวง METI ได้สนับสนุนการดำเนินงานของ SIIQ จึงได้จัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-ภาคการศึกษา-ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบัน SIIQ มีสมาชิกภายใต้เครือข่าย Consortium มากกว่า 300 แห่งประกอบด้วยบริษัทจากภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา หน่วยงานวิจัย และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมดำเนินงานเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งตลอด Value Chain ของอุตสาหกรรม Semiconductor และสร้างพันธมิตรกับองค์กรต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและบุคลากร โดยประเทศญี่ปุ่นมีความต้องการกำลังคนด้าน Semiconductor สูงถึง 3,400 คนต่อปี
SIIQ กล่าวว่า การสร้างและพัฒนากำลังคนด้าน Semiconductor ควรเริ่มจากการสร้างความสนใจให้กับผู้เรียนเป็นอันดับแรก และให้ทราบถึงภาพรวมตลอด Value Chain ของอุตสาหกรรม Semiconductor ว่าใช้ประโยชน์ด้านใดบ้าง และมีองค์ความรู้หรือทักษะใดที่เป็นที่ต้องการเพื่อสร้างความสนใจให้กับผู้เรียนและเลือกมาศึกษาในสาขาวิชา Semiconductor โดย SIIQ ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาในการออกแบบหลักสูตรที่สามารถผลิตกำลังคนที่มีทักษะตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยมีบุคลากรจากภาคอุตสาหกรรมเข้าร่วมเป็นผู้สอน รับผู้เรียนเข้า Internship เพื่อให้เกิดความเข้าใจและใกล้ชิดกับการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมใน SIIQ ยังสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ให้กับภาคการศึกษาอีกด้วย
ในด้านความร่วมมือกับสถาบัน KOSEN ประเทศญี่ปุ่นนั้น Kumamoto KOSEN และ Sasebo KOSEN เป็นสถาบันการศึกษาต้นแบบที่ได้มีการจัดทำหลักสูตรด้าน Semiconductor เพื่อผลิตกำลังคน ด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมของกลุ่ม SIIQ มีความเชื่อมั่นในทักษะ Hands-On Engineering ของนักศึกษาจากสถาบัน KOSEN และยินดีรับนักศึกษาเข้าปฏิบัติงานทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษา
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.