เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2568 นางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายจาก ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนกระทรวง อว. ร่วมหารือเพื่อสร้างความร่วมมือกับ Kumamoto University พร้อมด้วย นางวัฒนาโสภี สุขสอาด ผู้อำนวยการโครงการสถาบันไทยโคเซ็น รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และแผนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ โครงการสถาบันไทยโคเซ็น
นางสาววราภรณ์ กล่าวว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาบุคลากรสมรรถนะสูงเพื่อขับเคลื่อนการจัดหลักสูตรในการพัฒนากำลังคนด้าน Semiconductor เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรม Semiconductor ซึ่งเป็นหนึ่งใน Flagship Project ของกระทรวง อว. ตามนโยบายของ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีกระทรวง อว. ที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อผลักดันการสร้างกำลังคน โดยการจัดทำหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาวด้วยการจัดการศึกษาในรูปแบบ Higher Education Sandbox รวมทั้งการผลักดันการดำเนินงานโครงการและ Platform ต่าง ๆ การมาหารือในครั้งนี้ ทำให้เห็นภาพรวมของการจัดตั้งหน่วยวิจัย การพัฒนาหลักสูตร การวิจัยและอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการเรียนการสอน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาหลักสูตรด้าน Semiconductor ในประเทศไทยต่อไป
ขณะเดียวกัน Prof. Dr. Toshihiro IHARA คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ Kumamoto University ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการหลักสูตรและหน่วยวิจัยต่าง ๆ ภายใต้ Kumamoto University และได้แนะนำ Research and Education Institute for Semiconductors and Informatics (REISI) ที่เริ่มต้นดำเนินการมา ตั้งแต่เดือนเมษายน 2024 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการวิจัยในอุตสาหกรรมการผลิตชิปขั้นสูง (Cutting-edge semiconductors research) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ-ภาคอุตสาหกรรม-ภาคการศึกษา (Government-Industry-Academia collaboration) และจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนในสาขาวิชา Semiconductor ที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและสังคม ทั้งนี้ Kumamoto University มีการจัดทำหลักสูตร Semiconductor Device Program ทั้งระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโทภายใต้คณะวิศวกรรมศาสตร์ และหลักสูตร Data of Informatics ซึ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งซึ่งนับตั้งแต่มีการเปิดหลักสูตรเหล่านี้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2024 เป็นต้นมา มีผู้สนใจสมัครและสอบเข้าศึกษาต่อในอัตราการแข่งขันที่สูงเมื่อเทียบกับสาขาวิชาอื่น ๆ เนื่องจากจังหวัด Kumamoto นั้นเป็นที่ตั้งของภาคอุตสาหกรรมสำคัญของ Value Chain ในประเทศญี่ปุ่น
สำหรับความร่วมมือกับสถาบัน KOSEN นั้น Kumamoto University มีการรับนักศึกษาจากสถาบันโคเซ็นในประเทศญี่ปุ่นเข้าศึกษาต่อในชั้นปีที่ 3-4 ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจาก KOSEN สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering) และ สาขาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics Engineering) ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวนับเป็นโอกาสสำคัญในการขยายความร่วมมือระหว่าง Kumamoto University และสถาบันไทยโคเซ็นในอนาคต เนื่องจากสถาบันไทยโคเซ็นมีการจัดการเรียนการสอนใน 2 สาขาดังกล่าวอยู่แล้ว จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยโคเซ็นได้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนหรือศึกษาต่อ ณ Kumamoto University ในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะในสาขาวิชาที่เป็น Flagship ตลอดจนสาขาที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งจะเป็นการยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรไทย ในอนาคต อันเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมของประเทศไทย
“กระทรวง อว. มีความสนใจและพร้อมผลักดัน การดำเนินงานเพื่อสร้างความร่วมมือกับ KUMAMOTO University ในอนาคต โดยเฉพาะในด้านการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษา รวมถึงการสร้างความร่วมมือในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้นักศึกษาไทยได้มีโอกาสมาศึกษาเรียนรู้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อพัฒนาทักษะและความรู้ด้าน Semiconductor เพื่อพัฒนาประเทศต่อไป” นางสาววราภรณ์ กล่าว
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3782
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.