เมื่อวันที่ 27 ส.ค. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการแถลงข่าวความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาต้นแบบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะ สำหรับสถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทย (Thailand Epidemic AI)” โดยมี นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ รองปลัดกระทรวง อว. ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยแห่งชาติ รศ.ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อ.อัจฉรา ดอกกุหลาบ หัวหน้างานพัฒนาระบบงาน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล รศ.ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ (รักษาการแทน) รองอธิการบดี ม.มหิดล นพ.วิชาญ บุญกิติกร ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม ณ เวทีโซน Highlight Stage โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
นายเพิ่มสุข กล่าวว่า กระทรวง อว. มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน กำกับดูแลการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษา ให้เกิดความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับนโยบายยุทธศาสตร์แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ซึ่งในช่วงวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมา หน่วยงานทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงความจำเป็นของการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับโรคระบาดที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคต จะเห็นได้ว่าความร่วมมือด้านการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการที่เล็งเห็นถึงความสำคัญและการมีส่วนร่วมของภาคสาธารณสุขในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะ สำหรับสถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทย ซึ่งระบบดังกล่าวนี้จะเป็นฐานข้อมูลสำหรับสถานการณ์โรคระบาดภายในประเทศทำให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
“ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จในผลงานวิจัยชิ้นนี้ กระทรวง อว. ยังคงเดินหน้าในการสนับสนุนและเป็นศูนย์กลางในการประสานงานหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบวิจัยในทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ให้สามารถตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่มีความท้าทายเพิ่มมากขึ้น”
ด้าน นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางการพัฒนาระบบระบบสุขภาพ สู่ความเป็นเลิศในทุก ๆ ด้าน เพื่อให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้เข้าร่วมการพัฒนาเทคโนโลยีระบบสารสนเทศอัจฉริยะ สำหรับสถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทย ซึ่งได้ให้ความร่วมมือในการสนับสนุนข้อมูลในการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยงาน ส่วนงานที่ให้ข้อมูล คือ กรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่รับข้อมูลคือ ม.มหิดล เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ความสำเร็จนี้เกิดจากความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่ช่วยกันพัฒนาระบบในการจัดการทรัพยากร ในการรับมือโรคระบาดที่มีประสิทธิภาพ
ขณะที่ ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า วช. ได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนการวิจัยที่ช่วยในการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Smart Med-Supply ที่ช่วยในการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ของการบริจาคยาและเวชภัณฑ์, โครงการ Track and Trace ของวัคซีนโควิด-19 เพื่อช่วยในการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ของทั้งประเทศไทย หรือแม้กระทั่งการบูรณาการระบบสารสนเทศเพื่อให้ข้อมูลกับศูนย์ปฏิบัติด้านนวัตกรรม และบริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ทั้งในด้านการติดเชื้อ, การรักษาและการป้องกัน และในปี 2566 ที่ผ่านมา วช. ได้ให้การสนับสนุนนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลในการนำร่องทดลองพัฒนาระบบในการพยากรณ์โรคระบาดร่วมกับกรมควบคุมโรคโดยนำหลักการการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาใช้ในการจัดการข้อมูลและพยากรณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโรคระบาดต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พบว่า การพยากรณ์โรคระบาดที่มีสถิติการติดเชื้อมาก่อนมีผลที่ค่อนข้างน่าพอใจและระบบนี้ยังเป็นประโยชน์ในแง่ของการตรวจจับแนวโน้มโรคระบาดที่จะเกิดขึ้น ทั้งโรคระบาดเดิมและโรคระบาดใหม่ได้อีกด้วย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.