เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) บรรยายพิเศษ เรื่อง "นวัตกรรม BCG เพื่อการศึกษา" ภายใน “การประชุมวิชาการระดับชาติสวนดุสิต 2024 โดยมี ดร.ถนอม อินทรกำเนิด นายกสภามหาวิทยาลัยสวนดุสิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต รองศาสตราจารย์ ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ อุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา เข้าร่วม ณ หอประชุมรักตะกนิษฐ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
นายเพิ่มสุข กล่าวว่า BCG ในประเทศไทยเริ่มมาหลายปี ซึ่งมีความจริงจังในเชิงนโยบายของรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย โดยในยุคที่ผ่านมามีการ Kick off เรื่องของ BCG ซึ่งมีหลายประเด็นและเป็นการสร้างแพลตฟอร์มและแสดงศักยภาพของประเทศไทยซึ่งแตกต่างจากนานาประเทศ หน่วยงานในมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานที่สำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างคนเพื่อมีสมรรถนะ เราผลิตบัณฑิตที่มีความรู้มีความสามารถ ประเทศไทยเราเล็งเห็นความสำคัญของ BCG เราได้ดำเนินการอย่างดีและได้รับการยอมรับจากที่ประชุมนานาชาติ เรามีคณะกรรมการบริหารการพัฒนา BCG Model โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นอกจากนั้น กระทรวง อว. ซึ่งเป็นกระทรวงขนาดใหญ่ มีมหาวิทยาลัยภายใต้ 154 มหาวิทยาลัย มีคณาจารย์ผู้มีความรู้และมีคณะ สาขาวิชามากมาย เพราะฉะนั้น การขับเคลื่อน BCG ถ้ามองในภาพของการปฎิบัติก็น่าจะไปได้ในทิศทางที่ดี แต่ว่าการทำงานจะต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องทำอีกพอสมควร ที่สำคัญ เรายังมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG จำนวน 11 คณะแบ่งตามสาขาวิชาต่าง ๆ อาทิ การเกษตร อาหาร ยาและวัคซีน เครื่องมือแพทย์ พลังงาน วัตถุและเคมีชีวภาพ ซึ่งแต่ละคณะจำเป็นต้องได้แรงสนับสนุนจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย
นายเพิ่มสุข กล่าวต่อว่า ในเรื่องของ BCG นั้น ได้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย ซึ่งจะช่วยสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลก โดยมีแนวทางที่ชัดเจนผ่านยุทธศาสตร์ของประเทศ 4 ข้อ ได้แก่ (1) การสร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ (2) การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง (3) การสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และ (4) การยกระดับอุตสาหกรรม BCG ให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน ทั้งหมดนี้ เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คุณภาพชีวิตดี รักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากรจากความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพดีด้วยการใช้ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ด้าน ดร.ถนอม อินทรกำเนิด นายกสภามหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวปิดท้ายว่า การประชุมวิชาการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากท่าน เพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมเป็นประธานต่อจิกซอร์เปิดงานร่วมกัน รวมทั้ง ผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ร่วมเป็นเครือข่ายและเจ้าภาพจัดงาน ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้แสดงถึงศักยภาพในการสร้างสรรค์งานวิจัยอันเกิดจากความรู้ความสามารถ และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ ก่อเกิดการถ่ายทอดประสบการณ์ของนักวิจัยรุ่นพี่ให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นนวัตกรรม BCG เพื่อการศึกษา ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้รับความรู้เพื่อนำกลับไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานหรือการศึกษา มีการสร้างเครื่อข่ายเชิงวิชาการที่เข้มแข็ง เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการวิจัยร่วมกัน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ต่อไป
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.