เมื่อวันที่ 4-5 มิถุนายน 2567 นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย (COSTI Chairperson of Thailand) พร้อมด้วยคณะผู้แทนไทยจากหน่วยวิจัยและมหาวิทยาลัย ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ครั้งที่ 85 (The 85th Meeting of ASEAN Committee on Science, Technology, and Innovation: COSTI-85) ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา
การประชุม ASEAN COSTI-85 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ประชุมหารือความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ภายใต้กรอบอาเซียน และรายงานข้อมูลสถานะการดำเนินกิจกรรม/โครงการความร่วมมือของแต่ละประเทศในอาเซียน รวมถึงการแลกเปลี่ยนนโยบายด้านการพัฒนา วทน. และแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต การประชุมในครั้งนี้มีผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียนและประเทศสมาชิกอาเซียนเดินทางมาเข้าร่วมประชุม และผู้แทนจากติมอร์ เลสเต เข้าร่วมสังเกตการณ์ในฐานะสมาชิกใหม่ของประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย
ในการประชุม ประเทศไทยได้รายงานความก้าวหน้าของโครงการที่สำคัญประจำปี 2024 ได้แก่ 1) การจัดทำยุทธศาสตร์การแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยในอาเซียน (ASEAN Regional Research Infrastructure Strategy) โดย สวทช. 2) การจัดตั้ง ASEAN Talent Mobility Community เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการเคลื่อนย้ายทุนมนุษย์ด้าน วทน. โดย บพค. ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการดำเนินการตามแนวทางการประเมินความยืดหยุ่นด้านพลังงานของอาเซียน (ASEAN Energy Resilience Assessment Guideline: Capacity Building on Energy Resilience Assessment) โดยศูนย์ NECTEC สวทช. และได้รายงานผลการดำเนินงานร่วมกับประเทศญี่ปุ่น ในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งจะหมดวาระในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ได้แก่ โครงการ the 50th Year of ASEAN-Japan Friendship and Cooperation Commemoration, the ASEAN-Japan Innovation Week, Japan-ASEAN Science, Technology and Innovation Platform (JASTIP), Phase II และการจัดงาน the 8th STS Forum ASEAN-Japan Workshop ในวันที่ 27 มิถุนายน 2567 ที่กรุงเทพฯ และจะรับช่วงต่อการเป็นประเทศผู้ประสานงานอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567-30 มิถุนายน 2670 มีระยะเวลา 3 ปี
ทั้งนี้ การประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในอาเซียนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในระดับภูมิภาค
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.