เมื่อวันที่ 27 เม.ย. นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิด โครงการอบรมครูสังคมด้านสุวรรณภูมิศึกษา ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ พลิกโฉมประวัติศาสตร์ด้านสุวรรณภูมิ โดยมีน.ส.ฉัตต์ธิดา บุญโต ผู้อำนวยการธัชชา ผศ.ชวลิต ขาวเขียว ผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา
ดร.กมล รอดคล้าย ประธานที่ปรึกษาและคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผศ.ดร.ดำรงพล อินทร์จันทร์ คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะผู้บริหาร ข้าราชการ คณาจารย์และเจ้าหน้าที่เข้าร่วม กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 27 - 28 เมษายน 2567 ณ โรงแรมรอยัล ริเวอร์ (The Royal River Hotel) กรุงเทพมหานคร
นายวันนี ผู้ช่วยปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า การอบรมในครั้งนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งของการขับเคลื่อนงานวิจัยและการพัฒนาบุคลากรทางด้านสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ ผ่านสำนักงานปลัดกระทรวง อว. โดยสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ซึ่งเป็นสถาบันหนึ่งภายใต้ ธัชชา ซึ่งมีเป้าหมายที่จะศึกษา วิจัย องค์ความรู้ต่าง ๆ มาสร้างคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ รวมถึงครอบคลุมงานวิจัยทุกมิติในการบริหารศาสตร์ต่าง ๆ ให้เชื่อมโยง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อันจะนำไปสู่อนาคต โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักวิจัย ภาคีเครือข่ายในกลุ่มต่าง ๆ ที่จะมาร่วมกันเพื่อที่จะเชื่อมประเทศไทยให้เข้ากันนานาประเทศ และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นศูนย์กลางสุวรรณภูมิระดับชาติ
นายวันนี กล่าวต่อไปว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรถือเป็นหนึ่งในภารกิจของกระทรวง อว. สอดรับกับนโยบาย ท่านศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว.
ที่ต้องการให้ อว. มุ่งเน้นในการเป็นหน่วยงานหลักในการสร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม และพัฒนาประเทศ อีกทั้งเป็นไปตาม MOU ที่ได้ทำร่วมกัน 4 กระทรวง ประกอบด้วย กระทรวง อว. กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน เพื่อมุ่งพัฒนาคน ปลูกฝังจิตสำนึก รักชาติโดยส่งเสริมให้ประชาชนทุกช่วงวัย เข้าใจและภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย
“งานนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่กระทรวง อว. และกระทรวงศึกษาธิการมาบูรณาการร่วมกันที่จะนำองค์ความรู้เกี่ยวกับชุดสุวรรณภูมิซึ่งเป็นฐานรากที่สำคัญของวัฒนธรรมของประเทศที่สะสมมายาวนานกว่า 3000 ปี มาขับเคลื่อนผ่านการนำผลงานวิจัยสู่การพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ นับเป็นการสนับสนุนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทางด้านการศึกษา ซึ่งสามารถนำองค์ความรู้ต่างๆในครั้งนี้ไปต่อยอดสู่สังคมในมุมกว้างอย่างยั่งยืน” นายวันนี กล่าว
ด้าน ผศ.ชวลิต ผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา กล่าวว่า งานนี้เกิดขึ้นจากกระทรวง อว. โดยมีการบูรณาการร่วมกันหลากหลายกระทรวง เราได้นำงานวิจัยมาต่อยอดในหลายมิติ สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ได้ดำเนินการมา 2 ปี สุวรรณภูมินั้นมีความสำคัญอย่างมาก เป็นแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่ที่อยากให้เกิดความภาคภูมิใจของคนทั้งแผ่นดิน การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ นำเอาชุดความรู้ที่วิจัยมาเป็นหลักสูตรโดยการสกัดข้อมูลมาจัดงานในครัังนี้ จะทำให้คุณครูสังคมที่เข้าร่วมสามารถเข้าใจถึงประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องได้
ในส่วนของ ผศ.ดร.ดำรงพล คณบดีคณะโบราณคดี กล่าวว่า ประเด็นที่พูดคุยในวันนี้จะเกี่ยวข้องกับสุวรรณภูมิซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ยุคแรกของประเทศไทยที่มีความชัดเจน การนำองค์ความรู้ด้านสุวรรณภูมิจากงานวิจัยมาประมวลผลและถ่ายทอดชุดสุวรรณภูมิศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งและควรที่จะให้สาธารณะได้รับรู้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น กระทรวง อว. จึงจัดตั้งสถาบันสุวรรณภูมิศึกษาขึ้นภายใต้ ธัชชา โดยหน้าที่หลักสำคัญคือการเอามรดกองค์ความรู้เกี่ยวกับสุวรรณภูมิมาสร้างคุณค่าที่สูงสูงสุดของประเทศ และเผยแพร่และบ่มเพาะองค์ความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนให้เข้าใจและมีโลกทัศน์ใหม่ ๆ ทางประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์ จะนำไปสู่การขับเคลื่อนสู่สากลมากยิ่งขึ้นและเกิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ระดับชาติ อันเป็นมรดกของสุวรรณภูมิ ต่อไป
นอกจากนั้น ภายในงานดังกล่าว มีการปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ“ คุณค่าสุวรรณภูมิกับการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของประเทศไทย” โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งการบรรยายและเสวนาที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ ชุดความรู้สุวรรณภูมิ, รากเหง้า ตัวตน และภูมิปัญญา สุวรรณภูมิ, เทคโนโลยีและวิทยาการและการผลิตในดินแดนสุวรรณภูมิ ความรู้ด้านเครื่องประดับ ด้านโลหะวิทยา ด้านวัสดุศาสตร์ และ การประยุกต์ความรู้สุวรรณภูมิสู่ห้องเรียน, ประวัติศาสตร์โลกและทิศทางของการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในต่างประเทศ และผู้คน ภาษาในดินแดนสุวรรณภูมิ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.