เมื่อวันที่ 7 มี.ค. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมหารือ (ร่าง) โครงการนำร่องภายใต้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2567 - พ.ศ. 2570) ร่วมกับ ศ.(พิเศษ) วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ในฐานะกรรมการคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดยมี นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะให้การต้อนรับ ณ ห้องกมลทิพย์ 3 ชั้น 2 โรงแรมเดอะสุโกศล ราชเทวี กทม.
นายเพิ่มสุข กล่าวว่า โครงการนำร่องภายใต้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2567 - พ.ศ. 2570) เป็นความร่วมมือระหว่าง อว. และ ดศ. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การริเริ่มการจัดทำแผนจนได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 นำมาสู่การขับเคลื่อนเพื่อบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม อันมีเป้าประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยเกิดระบบนิเวศด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ครบถ้วนและเชื่อมโยงแบบบูรณาการ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้ในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ 1.การเตรียมความพร้อมประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย กฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบสนับสนุนด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3.การเพิ่มศักยภาพบุคลากร การพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ 4.การพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และ 5.ส่งเสริมและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทั้งภาครัฐและเอกชน
ปลัด อว. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ อว. ได้ร่วมกันจัดทำและสนับสนุนการขับเคลื่อนงานสำคัญโดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ (3) (4) และ (5) ในการนำร่องภายใต้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระยะที่ 2 มุ่งส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ด้านเกษตรและอาหาร การแพทย์และสุขภาวะ การใช้งานและบริการภาครัฐ การขนส่งและโลจิสติกส์ การศึกษา การท่องเที่ยว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้านความมั่นคงและความปลอดภัย อุตสาหกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม การเงินและการค้าให้สอดรับกับทิศทางในการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านการวิจัย ยกระดับกำลังคน รวมทั้งการเตรียมพร้อมโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
“ปัญญาประดิษฐ์มีความสำคัญและเติบโตอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยจึงต้องรีบวางแผนการรับมือในทุกภาคส่วน ทั้งภาคการวิจัย การศึกษา และภาคปฏิบัติ อว. มีหน่วยงานวิจัยและสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดที่พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจและสังคมที่ดี ทำให้เป้าหมายของโครงการสามารถบรรลุไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด” ปลัด อว. กล่าว
ด้าน ศ.(พิเศษ) วิศิษฏ์ กล่าวว่า จากสถานภาพการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทย พบว่าประเทศไทยได้ก้าวมาไกลมากในการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หากแต่ในการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างแท้จริง ยังจะต้องเร่งปฏิรูปประเทศไทย ในด้านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายและโอกาสของประเทศให้รวดเร็วขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นความเป็นเร่งด่วนในทางเศรษฐกิจ ความท้าทายทางสังคม การพลิกโฉมการบริหารจัดการและการบริการของภาครัฐ หรือแม้แต่การปรับตัวเพื่อฉกฉวยโอกาสการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต
“ปัจจุบันรัฐบาลได้ตระหนักถึงอิทธิพลของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศไทย ที่จะปรับปรุงทิศทางการดำเนินงานของประเทศ และในส่วนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเล็งเห็นว่าสาขาหนึ่งของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในปัจจุบันคือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ซึ่งนับวันจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นต่อการขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจฐานบริการและดิจิทัล เพื่อยกระดับประเทศเข้าสู่กลุ่มรายได้สูง ลดความเหลื่อมล้ำ ของการพัฒนา ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ” ปลัด ดศ. กล่าว
การประชุมหารือ (ร่าง) โครงการนำร่องภายใต้การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2567 - พ.ศ. 2570) ถูกจัดขึ้นเพื่อให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ผู้แทนจากกลุ่มอุตสาหกรรม ผู้แทนจากคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์ฯ รวมถึงสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมหารือ รับฟังความคิดเห็นถึงแนวทางพัฒนาและขับเคลื่อน (ร่าง) โครงการดังกล่าว เพื่อให้เกิดแนวทางในการดำเนินงานที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศร่วมกับเครือข่ายเชี่ยวชาญ ให้สามารถบรรลุและเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นางสาวอชิรญา รุจิระกุล
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3972 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailand
Twiiter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.