เมื่อวันที่ 19 พ.ค.68 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมการประชุม The 21st Annual Education World Forum 2025 (EWF) ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเวทีการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีรัฐมนตรีจากกว่า 100 ประเทศเข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาระบบการศึกษาสู่อนาคตภายใต้หัวข้อหลัก “From Stability to Growth: Building Stronger Bolder Better Education Together”
น.ส.ศุภมาส ได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อ “Technology’s Role in Education: Improving Equity and Quality” ร่วมกับ Mr. Anderson Adlercreutz รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาของฟินแลนด์ Mr. Saysat Nurbek รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และอุดมศึกษาของคาซัคสถาน และ Mr. Ian Pratt ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท HP โดยมี Mr. Gavin Dykes, EWF Programme Chair เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดย น.ส.ศุภมาส ได้นำเสนอแนวทางการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการยกระดับคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทย ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก โดยหลายประเทศแสดงความสนใจในแนวทางของไทยที่บูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับนโยบายการศึกษาระดับชาติ พร้อมยกย่องให้เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจของประเทศกำลังพัฒนาในการเดินหน้าสู่ระบบการศึกษายุคใหม่
“ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ โอกาสในการยกระดับฐานะทางสังคมที่ยังจำกัด และอุปสรรคนานัปการที่ขัดขวางการพัฒนาของชุมชนในพื้นที่ห่างไกล และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส โดยเราทราบดีว่า AI จะเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ประเทศไทยจึงได้วางนโยบายระดับชาติในเรื่อง “AI for Education” และริเริ่มโครงการสำคัญ “AI University” เพื่อวางรากฐานสู่ Education 6.0 ซึ่งเป็นระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ทันสมัย และครอบคลุมทุกมิติ เหมาะสมกับบริบทของโลกอนาคต” รมว.กระทรวง อว.กล่าว
น.ส.ศุภมาส กล่าวต่อว่า นอกเหนือจากการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้แล้ว ประเทศไทยยังมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปโครงสร้างการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ผ่านโครงการสำคัญต่าง ๆ อาทิ โครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox) หรือหลักสูตรแซนด์บอกส์ การสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาในส่วนภูมิภาคใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในท้องถิ่นในหลายภาคส่วน เช่น เกษตรกรรม การท่องเที่ยว และธุรกิจขนาดเล็ก อันเป็นการรับประกันว่าประโยชน์ของการศึกษาจะสามารถเข้าถึงประชาชนในวงกว้าง ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในเขตเมือง ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยได้เปิดตัว ระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้ผู้เรียนสะสมและโอนหน่วยกิตระหว่างสถาบันการศึกษาได้ตลอดชีวิต การส่งเสริมโครงการสหกิจศึกษา (Cooperative Education Programme) เพื่อเชื่อมโยงผู้เรียนกับประสบการณ์จริงผ่านความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต นอกจากนี้ แพลตฟอร์ม Skill Future Thailand จะเป็นแหล่งรวมหลักสูตรการเรียนรู้แบบแยกส่วนและมีความยืดหยุ่นสูง เพื่อสนับสนุนการเพิ่มพูนทักษะและการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ตลอดช่วงชีวิต
น.ส.ศุภมาส กล่าวอีกว่า ความมุ่งมั่นและความพยายามเหล่านี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาในระยะยาวของประเทศไทย ซึ่งกำลังเตรียมความพร้อมด้านทักษะของกำลังคนสำหรับภาคส่วนเศรษฐกิจสำคัญแห่งอนาคต อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ และ AI ขณะเดียวกัน ก็มุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคตที่ทุกคนมีส่วนร่วมโดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และผู้เรียนทุกคนมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ การบรรลุความเท่าเทียมในการศึกษามิได้จำกัดอยู่เพียงการขยายโอกาสในการเข้าถึงเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยระบบการศึกษาที่มีคุณธรรม จริยธรรม ยืดหยุ่น ปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นอนาคต และขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ประเทศไทยจึงมุ่งมั่นที่จะวางรากฐานของระบบการศึกษาด้วยองค์ความรู้ด้าน AI และหลักการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้สร้างสรรค์ นักแก้ปัญหา และพลเมืองที่มีความรับผิดชอบในยุคดิจิทัล การสร้างสรรค์อนาคตของการศึกษาและ AI จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมืออันแข็งแกร่งจากทุกภาคส่วน การแลกเปลี่ยนแนวคิด การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จะนำไปสู่ระบบการศึกษาที่ส่งเสริมศักยภาพของผู้คนและขยายโอกาสให้แก่ทุกคนอย่างแท้จริง
“ประเทศไทยไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการขยายโอกาสทางการศึกษาเท่านั้น แต่เราต้องการสร้างระบบที่มีคุณธรรม ยืดหยุ่น และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างแท้จริง เราต้องการให้ทุกคนมีศักยภาพเป็นผู้สร้างสรรค์ เป็นนักแก้ปัญหา และเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีความรับผิดชอบ” รมว.กระทรวง อว. กล่าว
ทั้งนี้ การนำเสนอของ รมว.กระทรวง อว. ในครั้งนี้ นอกจากจะสร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมประชุมจากหลากหลายประเทศแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่เข้มแข็งของประเทศไทยในการเป็นผู้นำเชิงนโยบายด้านการศึกษาในเวทีโลก ตอกย้ำภาพลักษณ์ของประเทศที่พร้อมก้าวสู่อนาคตด้วยความร่วมมือระหว่างเทคโนโลยี นวัตกรรม และความเท่าเทียม
สำหรับการประชุม The 21st Annual Education World Forum 2025 ได้กำหนดหัวข้อสำคัญในการหารือ ประกอบด้วย เสถียรภาพ ความเสมอภาค คุณภาพ นวัตกรรม และ การเติบโต ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาของกระทรวง อว. ในการเน้นย้ำอย่างชัดเจนในการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเพื่อสร้างความเท่าเทียม ยกระดับคุณภาพ และขับเคลื่อนการเติบโต ขณะเดียวกันก็มุ่งมั่นเพื่อระบบการศึกษาที่มั่งคงและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
เผยแพร่ข่าว : นางสาวเยาวลักษณ์ ทับช้างโท
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.