เมื่อวันที่ 15 พ.ค. นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดโครงการการประเมินความต้องการเทคโนโลยี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย หรือ TNA: Technology Needs Assessment ฉบับที่ 2 อย่างเป็นทางการ โดยมี ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คุณศิวัช แก้วเจริญ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม คณะผู้บริหาร และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ ห้อง Ballroom 1–2 โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญกับความท้าทายนี้ ผ่านการสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้และกลไกทางการเงิน เพื่อสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติ ประเทศไทยได้แสดงความมุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระดับโลก โดยตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อย ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 โครงการ TNA จึงเป็นกลไกที่สำคัญในการช่วยบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ผ่านการถ่ายทอดความรู้และการเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการดำเนินงาน TNA ฉบับที่ 2 นี้ จะต่อยอดความสำเร็จจากฉบับแรกโดยมุ่งเน้นการประเมินความต้องการเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ประเทศอย่างแท้จริง
นางสาวศุภมาส กล่าวต่อว่า กระทรวง อว. มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมนวัตกรรมที่สามารถใช้งานได้จริงในภาคส่วนต่าง ๆ นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังมีบทบาทในการเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษา การวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ในการรับมือต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งพร้อมร่วมมือและสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีในทุกมิติ การประชุมในวันนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย
ด้าน ดร.สุรชัย กล่าวว่า TNA เป็นเครื่องมือสำคัญในการระบุความต้องการเทคโนโลยีเฉพาะด้านของประเทศไทย ทั้งการปรับตัวและการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนและการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นกลไกที่ดำเนินภายใต้การสนับสนุนของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และ UNEP Copenhagen Climate Centre (UNEP-CCC) เพื่อช่วยให้ประเทศต่าง ๆ ระบุและจัดลำดับเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศไทยดำเนินโครงการ TNA ฉบับที่ 1 เสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2555 และในฉบับที่ 2 นี้ จะเป็นการต่อยอดเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนากลยุทธ์และแผนงานที่เข้าถึงแหล่งทุนระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ในงานเปิดการประชุมเริ่มโครงการการประเมินความต้องการเทคโนโลยี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ได้มีการบรรยายพิเศษหัวข้อ “TNA as a Catalyst: Unlocking Capital for Climate Technology” โดย Sara Traerup, Section Head, Technology - Transitions and System Innovation, UNEP-CCC และเวทีเสวนาในหัวข้อ “ก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยเทคโนโลยี และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย" โดยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง คุณศิวัช แก้วเจริญ และดร.สุรชัย สถติ คุณารัตน์
สำหรับโครงการ TNA ของประเทศไทยมีจุดเริ่มต้นจากฉบับแรกที่จัดทำแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2555 และได้รับการยกย่องในระดับสากลว่าประสบความสำเร็จในการบูรณาการผลการประเมินเทคโนโลยีเข้าสู่แผนนโยบายระดับชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในปัจจุบันประเทศไทยได้รับทุนสนับสนุนจาก Global Environment Facility (GEF) ในการดำเนินการ TNA ฉบับที่ 2 ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการพัฒนากลยุทธ์ระดับประเทศและโครงการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุนระยะยาว นอกจากนี้ TNA ยังมีบทบาทสำคัญในเวทีเจรจาระดับนานาชาติ เช่น การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of the Parties: COP) ซึ่งช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการขอรับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและการเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ โครงการ TNA ฉบับที่ 2 นับเป็นอีกก้าวสำคัญของประเทศไทยในการขับเคลื่อนนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.