เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน “ดูดาวกลางกรุง” Starry Night over Bangkok 2024 ในคืน “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. นายวันนี นนท์ศิริ ผศ.ดร.วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. และ นักเรียนนักศึกษาในสังกัดกระทรวง อว. เข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (ถนนโยธี)
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. มีนโยบายที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดยเชื่อว่าการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม คือรากฐานสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการทำให้ อว. เป็นกระทรวงที่ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศผ่านการวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และบริการ สร้างความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักของกระทรวง อว. ที่ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กิจกรรมดูดาวเป็นเสมือนประตูที่เปิดกว้าง ดึงดูดให้ผู้คนใช้จินตนาการกับภาพที่มองเห็นบนท้องฟ้า กระตุ้นให้เกิดความคิด วิเคราะห์ ผ่านกิจกรรมดูดาว ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความตระหนักและความตื่นตัวทางด้านดาราศาสตร์ให้กับเยาวชนและผู้คนมากมาย ให้หันมาสนใจในวิทยาศาสตร์มากขึ้น
"กิจกรรมดูดาวครั้งยิ่งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในต้นเดือนธันวาคมนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง NARIT กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นกิจกรรมที่น่าจะสร้างความตื่นตา ตื่นใจให้กับชาวกรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก เพราะกิจกรรมดูดาวที่ยิ่งใหญ่กลางกรุงเทพฯ เช่นนี้ มีขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น" รมว.การอุดมศึกษาฯ กล่าว
ผศ.ดร.วิภู กล่าวว่า งานดูดาวกลางกรุง จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคมปี 2566 โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากชาวกรุงเทพมหานครและใกล้เคียง ที่ให้ความสนใจมาร่วมดูดาวกันอย่างล้นหลามกว่า 12,000 คน และในปี 2567 นี้ NARIT จึงร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานพันธมิตร เตรียมเนรมิตกรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งดวงดาวอีกครั้งกับกิจกรรม “ดูดาวกลางกรุง: Starry Night over Bangkok 2024” ซึ่งความพิเศษในปีนี้คือตรงกับคืนที่มีปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี”ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏสว่างเด่นทางทิศตะวันออก ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ หากสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์จะสามารถชมลวดลายของแถบเมฆ และพายุ รวมถึงจุดแดงใหญ่ และดวงจันทร์กาลิเลียนทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัสบดีได้ วันงานจะมีคาราวานกล้องโทรทรรศน์กว่าร้อยตัวจาก NARIT โรงเรียนเครือข่ายดาราศาสตร์ รวมถึงหน่วยงานพันธมิตร และนักดาราศาสตร์สมัครเล่น พร้อมให้บริการเต็มพื้นที่ลานอัฒจันทร์กลาง ในคืนดังกล่าวยังสามารถชมวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ เช่น ดวงจันทร์ ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ ดาวอังคาร ฯลฯ ได้อีกด้วย ภายในงานยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย ได้แก่ ถ่ายภาพดวงจันทร์ ดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดีผ่านโทรศัพท์มือถือ รู้จักท้องฟ้าและกลุ่มดาวที่น่าสนใจผ่านแอปพลิเคชันดูดาว “NAPA” เรียนรู้ดูดาวด้วยตาเปล่า เก็บภาพความประทับใจกับบอลลูนดาวเคราะห์ รู้จักกลุ่มดาวผ่าน Stellar Light Box สนุกกับ Glow in the Dark ฟังทอล์ก “มหัศจรรย์ดาวพฤหัสบดี” นอกจากนี้ ยังมีหน่วยพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนที่ยกขบวนมาร่วมจัดกิจกรรมสุดพิเศษในค่ำคืนดังกล่าว อาทิ Night Nature Walk สำรวจธรรมชาติยามค่ำคืนบนพื้นที่สวนกลางเมือง โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) Space Journey โดย อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ และไบเทคบุรี Projection Mapping “Galaxy Walk” จากบริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น
ด้าน นายศานนท์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร กำหนดนโยบายว่าด้วยเรื่องเมืองแห่งการสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ผ่านโครงการ Colorful Bangkok หรือเทศกาลศิลปวัฒนธรรม ใช้ศิลปวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือเปลี่ยนมุมมองของเมืองด้วยการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ ทำให้เกิดความคึกคัก มีชีวิตชีวา กระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์และสะท้อนความพร้อมของกรุงเทพมหานครในการต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่ง “ดูดาวกลางกรุง: Starry Night Over Bangkok 2024” ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้เทศกาล Colorful Bangkok ในปีนี้ด้วย เทศกาลศิลปวัฒนธรรมจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - มกราคม โดยกรุงเทพมหานครร่วมกับเครือข่ายทั้งรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ประสานพลังจัดกิจกรรมต่าง ๆ เปิดพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ความสร้างสรรค์เกิดขึ้นอย่างหลากหลายทั่วทุกมุมเมือง ทั้งในแง่รูปแบบการจัดแสดงและเนื้อหากิจกรรม โดยเป้าหมายสำคัญที่สุดคือการทำให้เมืองแห่งนี้มีชีวิต และน่าอยู่สำหรับทุกคน งานดูดาวกลางกรุง ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมดูดาวที่ใหญ่ที่สุดที่เคยจัดในกรุงเทพมหานคร และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีประชาชนให้ความสนใจ และเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในพื้นที่เมือง มีแสงรบกวนค่อนข้างมาก มองเห็นดาวได้ค่อนข้างยาก การจัดกิจกรรมดังกล่าวถือว่าตอบโจทย์ชาวกรุง และยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนไทยหันมาสนใจดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์มากขึ้นผ่านกิจกรรมดังกล่าว สำหรับปีนี้ กทม. อำนวยความสะดวกการใช้พื้นที่บริเวณลานอัฒจันทร์ ภายในสวนป่าเบญจกิติ เป็นสถานที่จัดกิจกรรมเช่นเคย เนื่องจากที่เป็นพื้นที่โล่ง รองรับประชาชนได้จำนวนมาก การจัดงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน อาทิ สํานักการศึกษา สํานักสิ่งแวดล้อม สถาบันพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ส่วนพัฒนากิจการลูกเสือและยุวกาชาด สำนักงานเขตคลองเตย เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องห้องน้ำ เทศกิจ รวมถึงพื้นที่จอดรถต่าง ๆ ที่จะรองรับผู้มาร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากในปีนี้
ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมงาน “ดูดาวกลางกรุง” Starry Night over Bangkok 2024 ในคืน “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี”
?ณ ลานอัฒจันทร์ สวนเบญจกิติ กรุงเทพฯ คืนวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2567 เวลา 17:00 - 22:00 น. ร่วมกิจกรรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
?โดยสามารถลงทะเบียนออนไลน์ทาง https://bit.ly/StarryNightoverBKK2024-Reg
?ติดตามรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมทางเว็บไซต์กิจกรรม https://bit.ly/StarryNightoverBKK-info
และเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ https://www.facebook.com/NARITpage สอบถาม โทร. 081-8854353 (ในวัน-เวลาราชการ)
ทำข่าว : นางสาวพรชิตา รุกขชาติ
ถ่ายภาพ : นายฐิติพงศ์ แสงรักษ์
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.