Hall Of Fame สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ทำอะไรบ้าง
ที่ผ่านมาสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ได้ดำเนินการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาอย่างยาวนาน ทั้งในด้านการเกษตร ด้านโบราณคดี และด้านอื่นๆ รวมทั้งทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้ความรู้และช่วยเหลือสังคมอีกมากมาย วันนี้เราจะพาไปดูกันว่าที่ผ่านมาสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติมีโครงการเด่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างไรบ้าง
ฉายรังสีผลไม้ ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติได้ทำการพัฒนาและปรับปรุง โรงงานฉายรังสี และกระบวนการรังสีให้สอดคล้องกับข้อกำหนดการฉายรังสีเพื่อส่งออกไปสหรัฐอเมริกา จนได้รับอนุญาตจากกระทรวงการเกษตรของสหรัฐอเมริกา ให้เป็นโรงงานฉายรังสีผลไม้เพื่อส่งออกไปสหรัฐอเมริกาแห่งแรกของประเทศไทย
สารละลายโปรตีนไหม (Silk Peptide) เพิ่มมูลค่าให้เปลือกไหมเหลือใช้ด้วยเทคโนโลยีเชิงนิวเคลียร์ โดยการนำเศษไหมที่เหลือใช้ไปทำการฉายรังสีแกมมาที่ระดับ 300 กิโลเกรย์เป็นระยะเวลา 6 วัน เพื่อให้โมเลกุลของไหมแตกตัวออกจากกัน จนได้เป็นโปรตีนไหมที่มีอนุภาคเพียง 25-50 ไมครอน มีความสามารถในการละลายน้ำถึง 99.8% และยังมีลักษณะนุ่มฟู ดูดซับความชื้นได้ดี แล้วยังปราศจากเชื้อโรคอีกด้วย ผู้ประกอบการจึงนำโปรตีนไหมนี้ไปใส่ไว้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และยังผสมในอาหารเพื่อเพิ่มโปรตีนอีกด้วย
การพัฒนาบัวสายพันธ์ุใหม่ของโลกด้วยรังสี กลุ่มวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ สทน. ประสบความสำเร็จในการใช้เทคนิคการฉายรังสีเพื่อปรับปรุงพันธ์ุพืช จนได้เป็นบัวที่มีสามสีในดอกเดียวกันได้แก่สีเขียว สีชมพู และสีเหลือง ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “บัวจันทร์โกเมน” ซึ่งเป็นบัวสายพันธุ์ใหม่ของโลกอีกด้วย
แมลงวันผลไม้ถือเป็นหนึ่งศัตรูตัวสำคัญของเกษตรกร เพราะแมลงวันผลไม้สามารถสร้างความเสียหายแก่ผลผลิตได้เป็นจำนวนมาก สถาบันนิวเคลียร์แห่งชาติ จึงทำการฉายรังสีแกมมาที่ดักแด้ของแมลงวันเพื่อทำหมันแมลงวันผลไม้ หลังจากนั้นจะทำการคัดแยกแมลงวันตัวผู้ออกมาและนำไปปล่อยในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้ปริมาณแมลงวันผลไม้ลดลงเนื่องจากแมลงวันเพศผู้เหล่านั้นจะไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้ ซึ่งสามารถลดความเสียหายแก่ผลผลิตได้ถึง 80% และสทน.ยังประกาศพื้นที่ประเทศไทยเป็น Fruit Fly Free และยังมีแผนการต่อเนื่องในการทำหมันแมลงศัตรูพืชอื่นๆ อีกด้วย
ใช้กระบวนการทางรังสีผลิตพอลิเมอร์ดูดซึมน้ำสูงด้วยมันสำปะหลัง โดยเป็นการใช้รังสีเหนี่ยวนำให้เกิดปฏิกิริยากราฟต์พอลิเมอไรเซชั่น ของพอลีอะคริลิคแอซิดบนสายโซ่ของแป้งมันสำปะหลัง ทำให้แป้งมันสำปะหลังสามารถดูดซับนํ้าและเก็บนํ้าได้ในปริมาณที่สูงมาก และสามารถให้นํ้าแพร่ผ่านเยื่อของเจลในลักษณะของไอนํ้าและความชื้น ทำให้มีสามารถในการกักเก็บนํ้าสูงถึง 500 เท่าของนํ้าหนักแห้ง จึงสามารถใช้เป็นแหล่งกักเก็บนํ้าให้กับพืช ทำให้ลดปริมาณการใช้นํ้าในการทำการเกษตร หรือสามารถใช้ผสมกับดินเพื่อปลูกพืชในอาคารบ้านเรือน โดยเฉพาะกับที่อยู่อาศัยแบบคอนโดฯ เนื่องจากสามารถย่อยสลายได้ง่ายโดยธรรมชาติ เพราะผลิตขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานต่างๆ ที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติได้จัดทำขึ้น และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวไปข้างหน้าต่อไป
ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพิ่มเติม คลิก www.tint.or.th
ที่มา : สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.)
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.