มะม่วงหาวมะนาวโห่กับการต้านอนุมูลอิสระ
มะม่วงหาวมะนาวโห่ (Carissa carandas) มีชื่อสามัญคือ Karanda, Carunda และ Christ's thorn หรือชื่อพื้นเมืองอื่นๆ เช่น หนามแดง มะม่วงไม่รู้โห่ จัดอยู่ในวงศ์ Apocynaceae มีลักษณะเป็นไม้พุ่มยืนต้น สูงราว 2-5 เมตร ตามลำต้นและกิ่งก้านมียางสีขาว มีหนามแหลมยาว ผลขนาดเท่าหัวแม่มือ ผลอ่อนจะมี สีชมพูอ่อนๆ และค่อยๆ เข้มขึ้นเป็นสีแดง จนกระทั่งสุกจึงกลายเป็นสีดำ รสชาติของผลสุกจะออกหวาน แต่ถ้ายังไม่สุกจะมีรสเปรี้ยว ในปัจจุบันมะม่วงหาวมะนาวโห่ได้รับความนิยมในการรับประทานมากขึ้น เนื่องจากมีสรรพคุณทางยามากมาย เช่น แก้ไอ แก้โรคลักปิดลักเปิด เลือดออก ตามไรฟัน แก้เจ็บคอ และช่วยขับเสมหะ เนื่องจากมี วิตามินซีสูง นอกจากนี้ ยังใช้รักษาอาการท้องเสีย และช่วยรักษา โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น ผลสุกของมะม่วงหาว มะนาวโห่อุดมไปด้วยสารกลุ่มแอนโทไซยานิน ซึ่งสาร แอนโทไซยานินเป็นรงควัตถุธรรมชาติ จัดอยู่ในกลุ่มสาร ประกอบฟีนอลที่ให้สีที่แตกต่างกันตามความเป็นกรด-เบส โดยในสภาพที่เป็นกรดจะให้สีแดง ในสภาพที่ค่อนข้างเป็นกลางจะให้สีม่วง และในสภาพที่เป็นเบสจะให้สีน้ำเงิน โดยสารที่พบมากคือ cyanidin-3-Orhamnoside, pelargonidin-3-O-glucoside และ cyanidin3-O-glucoside สารเหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้ดีจึงมีประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดอุดตันในสมอง ด้วยการยับยั้งไม่ให้เลือดจับตัวเป็นก้อน ช่วยยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรคอีโคไล (Escherichia coli) ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคท้องร่วงและอาหารเป็นพิษด้วย ต้านเซลล์มะเร็ง ช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของเซลล์ ผิวพรรณแลดูเต่งตึง เป็นต้น โดยผลสุกเต็มที่มีค่าต้านอนุมูลอิสระถึง 93 เปอร์เซ็นต์ นอกจากผลสุกจะมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระที่ดีแล้ว ส่วนอื่นๆ ก็ยังมีประโยชน์เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นราก ใบ ยอดอ่อน เมล็ด เนื้อไม้ และแก่นล้วนแต่มีสรรพคุณทางยาทั้งสิ้น เช่น รากมีฤทธิ์ในการระงับปวด ลดไข้ ต้านอักเสบ, ส่วนของเปลือกใช้รักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง, ยอดอ่อนใช้รักษาริดสีดวงทวาร และเนื้อไม้ใช้บำรุงธาตุ บำรุงไขมัน เป็นต้น โดยเฉพาะใบของมะม่วงหาวมะนาวโห่ที่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระที่ดีเช่นกัน
อย่างไรก็ตามแม้ว่าในปัจจุบันจะมีงานวิจัยที่สนับสนุนถึงคุณสมบัติต่างๆ ของมะม่วงหาวมะนาวโห่ แต่เป็นการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัดในมนุษย์ จึงไม่อาจระบุประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้ได้ ดังนั้นการตัดสินใจรับประทานสมุนไพรใดๆ เพื่อหวังการป้องกันหรือรักษาโรค ควรศึกษาถึงรูปแบบและขนาดวิธีใช้อย่างชัดเจน ปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาโรคอย่างสูงสุด
เอกสารอ้างอิง
Kamlesh, P., Jale, R., Singh, M. and Kumar, R., 2010. Non-destructive evaluation of dimensional properties and physical characterization of Carissa carandas fruits. Int j emerg sci, 2, pp. 321-7. Kumar, S., Gupta, P. and Gupta, KL., 2013. A critical review on karamarda (Carissa carandas Linn.). Int J Pharm Biol Arch, 4(4), pp. 637-42 Le, XT., Hyunh, MT., Pham, TN., Than, CT., Toan, TQ., Bach, LG. and Trung, NQ., 2019. Optimization of total anthocyanin content, stability and antioxidant evaluation of the anthocyanin extract from Vietnamese Carissa Carandas L. fruits. Processes, 7, pp. 468. Pewlong, W., Sajjabut, S., Eamsiri, J. and Chookaew, S., 2014. Evaluation of antioxidant activities, anthocyanins, total phenolic content, vitamin C content and cytotoxicity of Carissa carandas Linn. CMUJ NS Special Issue on Food and Applied Bioscience, 13(1), pp. 509-17
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 19 ธ.ค. 2564
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร กองกลาง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Twitter : @MHESIThailand
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.