“U2T ความหวังของนิสิตนักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่”
โครงการ U2T ถูกคิดขึ้นอย่างเร่งด่วนในช่วงวิกฤติโควิด-19 เพื่อจ้างงานนิสิตนักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่ รวมถึงบุคคลทั่วไปให้มีงานทำในช่วงเวลาอันยากลำบาก แต่นอกจากหัวใจหลักอย่างการจ้างงานแล้ว โครงการนี้ยังหวังให้เกิดประโยชน์ต่อยอดไปถึงชุมชนต่าง ๆ โดยเน้นการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยในแต่ละพื้นที่ไปต่อยอดและสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายมากที่สุด
“การจ้างงานนิสิตนักศึกษา รวมไปถึงเด็กจบใหม่ ถือเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้นมา แต่นอกจากการจ้างงานและนำองค์ความรู้ลงไปในพื้นที่แล้ว เรายังต้องการทำข้อมูลเกี่ยวกับ Community Data ในเรื่องการสร้างศักยภาพและความสามารถของชุมชนด้วย U2T จึงเหมือนการเปิดโอกาสให้นักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่ รวมไปถึงคนในพื้นที่ได้เข้าไปสัมผัสชุมชนและเรียนรู้ปัญหาในพื้นที่ของพวกเขาไปพร้อม ๆ กัน”
“สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการที่มหาวิทยาลัยได้ลงไปทำงานในพื้นที่มากขึ้น เพราะแต่เดิมภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยจะเป็นในเชิงวิชาการอย่างเดียว แต่เมื่อเกิดโครงการ U2T ขึ้น ทำให้มหาวิทยาลัยได้เข้าไปในพื้นที่ ได้เรียนรู้ปัญหา และต่อยอดว่ามีเรื่องไหนที่มหาวิทยาลัยจะเข้าไปช่วยได้บ้าง ซึ่งสุดท้ายก็เกิดความร่วมมือกันระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัย ทำให้โครงการนี้เกิดประโยชน์มากกว่าตัวเลขการจ้างงานเพียงอย่างเดียว”
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล
รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
“U2T สร้างงานให้คนเกินครึ่งแสน”
หัวใจสำคัญของโครงการ U2T คือการให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศได้ทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในแต่ละพื้นที่ โดยในระยะแรกมีการดำเนินการทั้งหมด 3,000 ตำบล ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การจ้างงาน การยกระดับเศรษฐกิจและสังคม และการทำตำบลโปรไฟล์ ซึ่งโครงการทั้งหมดจะดำเนินการภายในระยะเวลา 11 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความยากลำบากของประชาชนในช่วงวิกฤติโควิด-19
“2-3 เดือนแรก (ที่ทำโครงการ) เราต้องอดหลับอดนอน ต้องนำเสนอเอกสารเป็นหมื่น ๆ หน้าต่อสภาพัฒน์ฯ ต้องประสานงานกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อให้เขาเข้าใจถึงเหตุและผลของโครงการ ดังนั้นตลอด 2-3 เดือนนั้น ผมกับน้อง ๆ ในทีมได้นอนกันวันละ 3-4 ชั่วโมง เพื่อรวบรวมโครงการกว่า 3,000 โครงการ ซึ่งการประสานงานถือเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่พองานออกมาสำเร็จลุล่วง ประชาชนได้ประโยชน์ ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการ U2T ผมกับทีมก็หายเหนื่อย”
“U2T ถือเป็นโครงการที่ใหญ่มาก เพราะมีการจ้างงานถึง 60,000 คน ผมค่อนข้างประทับใจที่ได้ทำงานเพิ่มขึ้นจากงานประจำ สำหรับผมโอกาสตรงนี้ เหมือนเป็นงานพิเศษ น้อง ๆ ในทีมทุกคนช่วยเหลือกันเต็มที่ ทำงานไม่เว้นวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ขณะที่ระดับผู้บริหาร อย่างท่านปลัดฯ ท่านรัฐมนตรีก็ให้ความช่วยเหลือเราอย่างดี ทำให้ทำงานง่าย เมื่อทุกคนให้ความสำคัญกับโครงการนี้ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าประทับใจ เพราะประโยชน์ของโครงการนี้ไปตกกับพี่น้องประชาชน”
คุณพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อรุณี
ผู้เชี่ยวชาญ
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)
“U2T ใช้เงินกู้อย่างคุ้มค่า”
เงินกู้ 10,600 ล้านบาท คือหัวใจสำคัญของการดำเนินโครงการ U2T เพราะเงินก้อนนี้ได้ถูกแปลงไปเป็นค่าจ้างนิสิตนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ ตลอดจนคนตกงานและประชาชนในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้โครงการนี้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนั้น เงินก้อนนี้ยังทำหน้าที่ ‘ต่อเงิน’ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผู้คนสูญเสียรายได้จากสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย
“ที่จริงแล้ว โครงการ U2T มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘โครงการยกระดับเศรษฐกิจรายตำบลแบบบูรณาการ’ ดังนั้นวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ก็ตามชื่อเลย คือเป็นการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในช่วงเวลาวิกฤติจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเราโฟกัสไปที่รายตำบล จำนวนทั้งสิ้น 3,000 ตำบล เพราะต้องการช่วยเหลือคนที่ตกงานและต้องกลับบ้านไปอยู่ตามภูมิลำเนาเดิมให้เขามีรายได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก และพร้อมกันนี้ ยังสามารถพัฒนา ต่อยอด รวมถึงยกระดับศักยภาพของแต่ละตำบลไปพร้อมกันด้วย”
“U2T ช่วยเหลือคนกว่า 60,000 คน โดยคนที่ได้รับการจ้างงานจะมี 3 กลุ่ม คือ บัณฑิตจบใหม่ ประชาชนที่ตกงานหรือคนในภูมิลำเนา และอีกกลุ่มคือ นักศึกษา ปี 3-4 โดยผลจากโครงการนี้ คือเราสามารถจ้างคนได้ทั้ง 60,000 คนตามเป้าหมาย และเมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจภาพรวมในประเทศดีขึ้นด้วย”
คุณสุวรรณี คำมั่น
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
“U2T กระตุ้นเศรษฐกิจระดับตำบล”
หัวใจสำคัญของโครงการ U2T คือการยกระดับและกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับตำบล ดังนั้นการเลือกกิจกรรมให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่เพื่อที่จะสามารถต่อยอดไปสู่ผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเหมาะสมนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่นเดียวกับการดูแลโครงการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ โดยเฉพาะเมื่อโครงการนี้เกี่ยวข้องกับเงินกู้จำนวนสูงถึง 10,600 ล้านบาท การตัดสินใจในแต่ละกิจกรรมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
“เงินกู้มีดอกเบี้ย ดังนั้นการกำกับดูแลเงินกู้ที่ได้รับมาเพื่อใช้ในโครงการจึงต้องตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของโครงการและดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน เรายังต้องช่วยมองด้วยว่ากิจกรรมที่มหาวิทยาลัยนำเข้าไปสู่ตำบลนั้น ๆ มีความเหมาะสมหรือไม่ เป็นไปตามกระบวนการพัฒนารึเปล่า เพราะในช่วงวิกฤติ ทุกคนก็ลำบากเหมือนกัน เราต้องช่วยให้คนที่ได้รับผลกระทบมากกว่าเข้าถึงโอกาสก่อนและช่วยให้เขาสามารถขับเคลื่อนตำบลของตัวเอง โดยที่ไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการอื่นที่รัฐทำอยู่แล้วด้วย”
“โครงการ U2T ช่วยประชาชนได้มาก นอกจากด้านเศรษฐกิจ ผ่านการยกระดับสินค้าหรือทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แล้ว ยังทำให้เกิดการนำวิทยาศาสตร์ งานวิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ไปร่วมพัฒนาและตอบโจทย์ของท้องถิ่นโดยมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง ด้วยการให้บริการชุมชนผ่านการช่วยค้นหาคุณค่าหรืออัตลักษณ์ของแต่ละตำบลเพื่อให้พวกเขาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ในพื้นที่ และสุดท้ายนำไปสู่การพึ่งพาตนเอง ซึ่งในโครงการนี้ เราทำตำบลละ 3-4 กิจกรรม รวมแล้วกว่าหมื่นกิจกรรม”
คุณนิสากร จึงเจริญธรรม
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
“U2T พลิกบทบาทของมหาวิทยาลัยไทย”
องค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยมักถูกถ่ายทอดไปยังนิสิตนักศึกษาเป็นหลัก แต่โครงการ U2T ช่วยทำให้องค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีของแต่ละมหาวิทยาลัยได้รับการถ่ายทอดสู่ชุมชนมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีการจัดทำ ‘ตำบลโปรไฟล์’ เพื่อเก็บข้อมูล บันทึก ตลอดจนถอดบทเรียนว่าแต่ละชุมชนมีความต้องการอะไร หรือยังขาดแคลนอะไร ทั้งนี้เพื่อให้แต่ละตำบลสามารถต่อยอดการพัฒนา ทั้งมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไปได้อย่างยั่งยืน
“ช่วงปี 2564 โครงการ U2T ได้เข้าไปถึงแต่ละชุมชน แต่ละตำบล โดยเริ่มจากเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ที่ร่วมโครงการอย่างน้อย 4-5 คน ได้มาร่วมเรียนรู้และพัฒนาตำบลของตนเองผ่านการถ่ายทอดความรู้จากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่สังกัดกระทรวง อว. โดยพวกเขาจะนำความรู้เหล่านี้ไปถ่ายทอดสู่ชุมชนต่ออีกทีหนึ่ง ซึ่งนี่ถือเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญอีกครั้งของมหาวิทยาลัยไทย”
“เราเชื่อว่าคนที่จะคุยกันรู้เรื่อง ต้องเป็นคนที่คุยภาษาเดียวกัน ดังนั้นจะเป็นการง่ายกว่าที่คนเหล่านี้จะนำองค์ความรู้ที่พวกเขาได้รับถ่ายทอดจากมหาวิทยาลัยไปถ่ายทอดสู่คนในพื้นที่ซึ่งเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ส่วนมหาวิทยาลัยเองก็ต้องเปลี่ยนแปลงบทบาท เพราะจากโครงการ U2T พวกเขาจะไม่ได้แค่สอนนิสิตนักศึกษาเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ต้องปรับตัวเข้าหาชุมชนด้วย ดังนั้นระหว่างดำเนินโครงการ ความเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัยก็ได้เกิดขึ้นแล้ว”
คุณวนิดา บุญนาคค้า
ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
“จาก U2T สู่ Hackathon”
Hackathon มาจากการรวมคำว่า ‘Hack’ หมายถึง การสร้างสิ่งใหม่ กับ ‘Marathon’ ที่หมายถึง การทำอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดพักเหมือนกับการแข่งขันวิ่งมาราธอน รวมกันแล้วให้ความหมายถึง ‘การสร้างสิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง’ ซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งสีสันสำคัญสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ U2T ที่ทำให้เกิดการประกวดแข่งขันและช่วยให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม
“ผมเข้ามาร่วมโครงการนี้ตอนโครงการเริ่มต้นพอดี โดยรับผิดชอบเรื่องการสื่อสาร เพื่อให้ในที่สุดแล้ว ผู้เข้าร่วมและผู้ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการเกิดความรู้สึกที่ดีต่อโครงการ เพราะในตอนแรก Mood & Tone ค่อนข้างจริงจัง ดังนั้นเราจึงต้องปรับรูปแบบให้เข้าถึงง่ายขึ้น เป็นมิตรมากขึ้น รวมถึงดูแลงาน Hackathon ซึ่งผมมองว่า คือสิ่งสำคัญที่ทำให้โครงการนี้มีสีสันและช่วยทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการสนุกไปกับมันได้”
“โครงการ U2T สร้างอะไรใหม่ ๆ หลายอย่าง ซึ่งเราไม่อยากให้ผลงานต่าง ๆ หายไปพร้อมกับโครงการที่จบลงก็เลยจัด Hackathon ให้ผู้ร่วมโครงการไปรวมทีมแล้วนำผลงานมาแข่งขันประชันกัน ตอนที่มีการ Pitching กันในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ผมไปนั่งดูแล้วพบว่า ผลงานของแต่ละทีมกว่า 40 ทีม ทำออกมาได้น่าทึ่งมาก เกินความคาดหมายของทั้งคณะกรรมการและผู้จัดโครงการ ซึ่งทำให้เห็นถึงพลังและความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยที่ต่อยอดมาจากตำบลแต่ละตำบลได้อย่างยอดเยี่ยม”
คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.