“อว. ทำอะไรเพื่อคนไทยบ้าง?”
ภารกิจที่ 1 โรงพยาบาลหลัก อว. ความหวังของผู้ป่วย
ความท้าทายของโรคอุบัติใหม่ที่ทั่วโลกและประเทศไทยต้องเผชิญกันอย่างถ้วนหน้าและไม่ทันตั้งตัว การระบาดของ ‘โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019’ หรือโควิด-19 ที่แพร่กระจายอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ตั้งแต่วันแรกของการระบาดที่นครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน จวบจนปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 3 ปี เชื้อโรคแพร่ระบาดไปแล้ว 245 ประเทศ/เขตปกครองในทุกทวีปทั่วโลก มีจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 600 ล้านคนและคร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 6.5 ล้านคน โดยตัวเลขเหล่านี้ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นั่นหมายถึงพ่อแม่ ลูกหลาน คนในครอบครัว คนมีชื่อเสียง และทรัพยากรบุคคลของประเทศกำลังลดหายไปหรือได้รับผลกระทบจากโรคในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง
แม้ระบบสาธารณสุขไทยจะเคยรับมือกับเหตุวิกฤติครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก อย่างการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในปี 2547 หรือโรคซาร์สในปี 2552 แต่การแพร่ระบาดครั้งนี้ต่างจากที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน องค์ความรู้เกี่ยวกับโรคก็มีน้อยมาก ๆ แถมความสามารถในการแพร่ระบาดของโรคก็เป็นไปอย่างรวดเร็วไม่มีทั้งยา ไม่มีทั้งวัคซีน หรือแม้แต่แนวทางการรักษาที่ชัดเจน ภาระงานของทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จึงต้องศึกษาข้อมูลให้ไว วินิจฉัยโรคอย่างแม่นยำและวิจัยหาทางรักษาอย่างเร็วที่สุด ซึ่งทั้งหมดต้องทำงานควบคู่ไปกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มียอดพุ่งสูงรายวัน เพราะหากช้าแม้แต่นาทีเดียว หรือเพียงเสี้ยววินาทีก็อาจต้องแลกมากับการสูญเสียชีวิตของผู้คน
.
วิกฤติโควิด-19 ที่รุนแรงและผันผวน ประเทศไทยผ่านช่วงที่วิกฤติที่สุดมาได้และเกิดการสูญเสียน้อยเมื่อเทียบกับหลายประเทศ โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อ (ณ วันที่ 31 ส.ค. 65) 4.65 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 0.8% เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลก เป็นเพราะระบบสาธารณสุขของไทยที่เข้มแข็งและได้รับการยกย่องว่า ‘ติดอันดับท็อป 10 ของโลก’ เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้การดูแลรักษามีมาตรฐาน แม้เป็นโรคใหม่ที่ไม่เคยเผชิญหน้าก็ตาม รวมถึงการมีทีมวิจัยที่คอยช่วยสนับสนุนด้านองค์ความรู้ สร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่มาช่วยอำนวยความสะดวกให้ภารกิจการดูแลรักษาชีวิตผู้ป่วยเป็นไปอย่างราบรื่นและมีอุปสรรคน้อยที่สุด
ปัจจุบันสถานการณ์ของโรคยังไม่สิ้นสุด ทีมบุคลากรทางการแพทย์ยังคงต้องทำงานต่อเนื่อง พร้อมกับการเรียนรู้และถอดบทเรียน พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสเพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขไทย ให้เตรียมรับมือกับวิกฤติครั้งใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ด้วยความพร้อมด้านองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี อุปกรณ์และเครื่องมือที่ครบครัน ระบบการทำงานที่วางโครงสร้างมั่นคง รวมถึงกฎระเบียบในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องยืดหยุ่นในภาวะวิกฤติ
—————————
สำหรับผู้ที่สนใจอ่านชุดหนังสือ ‘เพราะเธอเป็นลมหายใจ’ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าและถอดบทเรียนการทำงานและความร่วมมือของชาว อว. เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยให้ก้าวผ่านวิกฤติการณ์โรคระบาดโควิด-19 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สามารถคลิกอ่านได้ที่ https://bit.ly/MHESIagainstCOVID19
เผยแพร่โดย : นางสาวสุวดี เหมือนอ้น
กลุ่มสื่อสารองค์กร (สอ.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3880
E-mail : pr@mhesi.go.th
Facebook : @MHESIThailandth
Instagram : mhesi_thailand
Tiktok : mhesi_thailand
Twitter : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์นี้ โปรดแจ้งให้ทราบ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป
© 2020 Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation. ALL RIGHTS RESERVED.